วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555

บันทึกเส้นทางสีแดงเพื่อสันติภาพ (ตอน 15)


25 March 2012 at 01:19
15. ข่าวลือที่แพร่สะพัด

เที่ยงตรงพวกเราถึงอนุเสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราชเพื่อทำการขอพรก่อนออกเดินทาง หลังจากนั้นพวกเราปั่นจักรยานมุ่งหน้าจังหวัดนครปฐม พี่น้องเสื้อแดงที่นครปฐมจัดงานต้อนรับกิจกรรมที่บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ มีพี่น้องได้ถามถึงสาเหตุที่ไปขึ้นเวทีคนไทยหัวใจรักชาติซึ่งผมได้ขึ้นเวทีเคลื่อนที่และอธิบายที่มาที่ไปและได้ชวนทุกคนร้องเพลงนักสู้ธุลีดินด้วยกัน บรรยากาศที่นครปฐมเป็นไปอย่างอบอุ่น ผมจำได้ไม่ลืมถึงความห่วงใยของพี่น้องเสื้อแดงหลายคนที่นำอาหาร ถุงมือสวมกันแดด และเงินบริจาคมามอบให้กับพวกเราเพื่อฝากไปให้กับผู้ได้รับผลกระทบตลอดเส้นทาง

เช้าวันรุ่งขึ้นขณะที่กำลังรับประทานอาหารเช้าข่าวช่อง 3 ก็รายงานเหตุการณ์ที่พวกเราไปขึ้นเวทีคนไทย พวกเราค่อนข้างตื่นเต้นระคนแปลกใจเพราะไม่คิดว่าสื่อมวลชนจะให้ความสนใจมากขนาดนี้ ปรากฏว่าในเช้าวันนั้นหนังสือพิพม์ทุกฉบับต่างนำข่าวนี้ขึ้นพาดหัวข่าวหน้าหนึ่ง จากการตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่าหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่รายงานข่าวไกล้เคียงกับความจริง (มีที่พาดหัวหวือหวากว่าเพื่อนได้แก่นสพ.ไทยรัฐที่พาดหัวทำนองว่าคนเสื้อแดงและเสื้อเหลืองจับมือกันไล่รัฐบาล ทั้งๆที่การ "จับมือ" นั้นเป็นการจับมือแบบทักทายปราศัยเท่านั้น มิใช่เป็นการ "จับมือ" ในลํกษณะร่วมมือกันแต่อย่างใด)

ในวันนั้นพวกเรามุ่งหน้าอ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี พี่น้องเสื้อแดงจากราชบุรีได้มาพบกับพววกเราที่วัดแห่งหนึ่งซึ่งเป็นสถานที่พักแรม คำถามที่ทุกคนต้องการทราบคือสาเหตุที่ต้องไปขึ้นเวทีคนไทย เมื่อได้ฟังคำชี้แจงทุกคนต่างสบายใจว่าอุดมการณ์ของเส้นทางสีแดงยังเหมือนเดิม ในคืนนั้นผมได้เล่าเรื่องของคุณเกียรติศักดิ์ นักสู้ประชาธิปไตยจากอุดรที่ตาบอดเพราะแก๊สน้ำตา หลายคนที่ได้ฟังสะเทือนใจถึงกับต้องหลั่งน้ำตา หลายคนต้องลุกออกไปร้องไห้นอกวงสนทนา ในคืนนั้นมีสื่อมวลชนเสื้อแดงจากเวปไซด์หนึ่งโทรมาสัมภาษณ์ออกอากาศ ผมได้อธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยละเอียด คืนนั้นกว่าจะได้นอนก็เที่ยงคืน

เช้าวันถัดมาพวกเราได้ไปเยี่ยมผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมคนหนึ่งในอ.บ้านโป่งที่ถูกสะเก็ดระเบิดเข้าที่บริเวณไกล้นัยตาทำให้กระบอกตาเป็นรู พวกเราทำการสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลไว้เป็นหลักฐาน ก่อนจะเดินทางกลับได้มีคนเสื้อแดงออกมายืนร้องเพลงส่ง เป็นเพลงที่ประทับใจมากและผมไม่เคยลืมบรรยากาศวินาทีนั้น พวกเราหลายคนกอดกันร้องไห้ เสียงเพลงนั้นทำให้ผมต้องถ่ายคลิปทั้งน้ำตา

ตลอด 2 วันแรกของการทำกิจกรรมมีคนเสื้อแดงโทรศัพท์มาสอบถามถึงการขึ้นเวทีคนไทยตลอดทั้งวัน กว่าจะชี้แจงได้แต่ละสายจนเป็นที่เข้าใจก็จะมีสายใหม่ๆที่โทรเข้ามาตลอด ในขณะที่มีข่าวปล่อยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่บ่ายวันที่ 16 มค.ซึ่งสุดวิสัยที่พวกเราจะทราบและแก้ไขได้ทันท่วงทีเนื่องจากไม่เคยมีใครผ่านประสพการณ์นี้มาก่อน ทำให้ข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่วอินเทอร์เนท ข่าวที่ปล่อยออกมาล้วนเป็นข่าวไร้สาระที่ทำลายความน่าเชื่อถือของกิจกรรม

วันที่สามของกิจกรรม ผลของการปล่อยข่าวลือของผู้ไม่ประสงค์ดีก็เริ่มเห็นผล เวทีที่อ.บ้านคา จ.ราชบุรีได้ถูกยกเลิกอย่างกระทันหัน วันถัดไปพวกเราเดินทางไปที่จ.กาญจนบุรีด้วยระยะทางที่ไกลกว่า 130 กม. มีการต้อนรับกิจกรรมเส้นทางสีแดงที่ไร่ของพล.ท.มะ โพธิ์งาม ในคืนวันนั้นคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุขได้ไปขึ้นเวทีและให้กำลังใจพวกเราให้อดทนต่อสู้พิสูจน์ตัวเอง คำแนะนำของคุณสมยศมีค่ามากเนื่องจากเคยผ่านประสพการณ์เหล่านี้มาก่อน ที่กาญจนบุรีมีผู้ได้รับผลกระทบที่มาร่วมกิจกรรม ผมได้ทำการสัมภาษณ์และถ่ายคลิปเยียวยาไว้เป็นหลักฐาน ผู้ได้รับผลกระทบรายนี้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน และถูกซ้อมในระหว่างควบคุมตัว

วันที่ 21 มค.พวกเราเดินทางถึงจ.สุพรรณบุรีและได้ทำคลิปวีดีโอเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าพวกเราและคนเสื้อแดงตลอดจนสื่อมวลชนทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างทราบดีว่าไม่มีอะไรเสียหาย แต่เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายผมได้เป็นตัวแทนกลุ่มเส้นทางสีแดงผู้เอ่ยปากขอโทษพี่น้องเสื้อแดงทั่วประเทศที่ได้ทำให้เข้าใจผิด คลิปนี้ได้เผยแพร่ทาง Youtube ในบ่ายวันที่ 22 มค.2554 แต่อย่างไรก็ตาม คลิปนี้ก็ได้เผยแพร่เพียงแค่วงจำกัด และสถานการณ์หลังจากนั้นก็เลวร้ายลงกว่าเดิมเมื่อแกนนำนปช.ได้แถลงข่าวออกทีวี Asia Update ในอีกไม่กี่วันต่อมา

คลิปการร่ำลาที่ราชบุรี สุดประทับใจ http://www.youtube.com/watch?v=rf3ZLq8ivEE
คลิปขอโทษจากเส้นทางสีแดง http://www.youtube.com/watch?v=Bc0BjyargYc
.
.
นสพ.ไทยรัฐฉบับเช้าวันที่ 17 มค.2554
นสพ.ไทยรัฐฉบับเช้าวันที่ 17 มค.2554

วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

บันทึกเส้นทางสีแดงเพื่อสันติภาพ (ตอน 14)


17 March 2012 at 03:57
14. ขึ้นเวทีคนไทยหัวใจรักชาติ

เที่ยงตรงวันที่ 16 มค.2554 ขบวนแรลลี่เส้นทางสีแดง (ราชประสงค์-เชียงราย) เคลื่อนขบวนออกจากราชประสงค์ ขบวนรถจักรยาน มอเตอร์ไซด์ รถเก๋งและรถกระบะร่วมขบวนหลายสิบคัน เวลาประมาณ 12.30 น. ผมพาขบวนผ่านถนนพิษณุโลกเพื่อที่จะไปทักทายกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติเพื่อถ่ายคลิปวีดีโอนำมาเผยแพร่ตามที่ตั้งใจไว้ แต่แล้วพวกเราก็พบกับสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน

กลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติได้ตั้งเวทีปิดถนนพิษณุโลกคืนก่อนหน้านั้น ขบวนรถหลายสิบคันต้องจอดอยู่กลางถนนโดยไม่สามารถเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ผมได้ลงมาเจรจากับการ์ดของเวทีซึ่งพบว่าการ์ดไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ ท่าทีของการ์ดไม่ได้มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับพวกเรา และได้บอกให้ผมรออยู่ที่ด่านซึ่งการ์ดจะไปตามแกนนำมาเจรจา ขณะนั้นมีตำรวจหลายนายยืนดูแลความเรียบร้อย

ในระหว่างที่ยืนรอนั้น ผมสังเกตุเห็นคนเสื้อแดงที่ตามมาส่งทยอยลงจากรถมาดูสถานการณ์ ผมเห็นผู้ชุมนุมของกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติมายืนดูสถานการณ์เช่นเดียวกัน กลุ่มผู้ชุมนุมแทบทั้งหมดใส่เสื้อม่อฮ่อมและส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้สูงอายุที่มาจากชนบท ทั้งสองฝ่ายไม่มีใครแสดงท่าทีที่เป็นศัตรูกัน ตรงกันข้าม ผมเห็นภาพที่น่ารักและประทับใจมาก นั่นคือภาพของคนสองกลุ่มทักทายกันด้วยอัธยาศัยไมตรี บางคนยกมือไหว้กัน บางคนยิ้มแย้มจับมือกัน

หลังจากนั้นผมเห็นคุณไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ซึ่งเป็นแกนนำของกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติรีบเดินมาที่ด่านพร้อมกับนักข่าวจำนวนมากที่วิ่งตามมา เมื่อมาถึงที่ด่านผมเห็นคุณไชยวัฒน์ยกมือไหว้พวกเราอย่างสุภาพด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มพร้อมกับยื่นมือมาให้พวกเราจับอย่างมีไมตรี แน่นอนว่าภาพที่น่าประทับใจที่คนสองสีเสื้อจับมือโอภาปราศัยกันอย่างฉันมิตรนั้นนั้นถูกบันทึกไว้โดยสื่อมวลชนและช่างภาพอิสระจำนวนมาก

เมื่อทราบจุดประสงค์ของการมาแวะเยี่ยมเยียน คุณไชยวัฒน์ได้ขอเชิญตัวแทนกลุ่มเส้นทางสีแดงหนึ่งคน (ย้ำว่าเพียงหนึ่งคน) ขึ้นไปกล่าวคำทักทายผู้ชุมนุมที่เวที ผมมีเวลาตัดสินใจเพียงชั่วเวลาสั้นๆ สิ่งที่ผมมองเห็นคือโอกาสในการที่คนเสื้อแดงจะได้พูดคุยกับคนไทยต่างสีเสื้อต่างอุดมการณ์บนเวทีของเขา โดยมีแกนนำของเขามาเชื้อเชิญ และสื่อมวลชนของ Voice TV และช่อง 3 พร้อมกับสื่อมวลชนของเขาเองก็พร้อมที่จะทำข่าว .. แล้วทำไมผมจะต้องปฏิเสธโอกาสนี้

ผมตัดสินใจตอบตกลงและเดินเข้าไปเพียงลำพัง มีพี่ๆน้องๆที่มาร่วมกิจกรรมกับผมเดินตามผมเข้าไป ผมเข้าใจว่าพวกเขาคงจะไม่ไว้วางใจในความปลอดภัยจึงเดินเข้าไปด้วย เมื่อถึงเวทีพวกเราได้รับคำเชิญจากพิธีกรให้ขึ้นเวที พวกเราเดินขึ้นเวทีประมาณ 5-6 คน และนั่นเป็นประวัติศาสตร์ของคนต่างสีเสื้อที่มีการขึ้นเวทีข้ามสีเป็นครั้งแรก !

สิ่งที่พวกเราพูดบนเวทีนั้นเป็นการแนะนำตัวและพูดเรื่องกิจกรรมของเส้นทางสีแดงล้วนๆ พวกเราพูดกันคนละไม่เกิน 2 นาที ผมเป็นคนสรุปปิดท้าย 2 นาที สาระสำคัญอยู่ตรงประโยคที่ว่า "วันนี้ตั้งใจจะมาขอให้กำลังใจพี่น้องต่างสีอีกครั้งเพื่อที่จะแสดงความรู้สึกว่า ถึงแม้ว่าเราจะมีความคิดต่างกันแต่ที่สำคัญที่สุดคือเราต่างเป็นคนไทยที่มีหัวใจที่รักชาติเหมือนกัน ... กิจกรรมเส้นทางสีแดงไม่มีพรรคการเมืองใดอยุ่เบื้องหลัง เราทำกิจกรรมในภาคประชาชน ... เราทำทุกอย่างเพื่อสันติสุขของคนไทยและแผ่นดินไทย"

พวกเราใช้เวลาบนเวทีไม่เกิน 10 นาทีหลังจากนั้นก็รีบลงมา มีนักข่าวจาก Voice TV และสื่อของกลุ่มคนไทยได้มาขอสัมภาษณ์ ประโยคที่สำคัญในการให้สัมภาษณ์ของผมอยู่ที่คำว่า "พวกเราต่างสีกันอาจจะมีความเห็นที่ต่างกันได้ไม่เป็นไร แต่ว่าความรักความสามัคคีจะต้องเกิดขึ้น"  

ภาพที่น่าประทับใจเกิดขึ้นอีกครั้งหลังจากที่พวกเราเดินกลับออกมา ได้มีกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติเดินมาส่งพวกเราถึงที่ด่านและโบกมือร่ำลากัน มีภาพที่น่าประทับใจที่คนต่างสีเสื้อได้นำตีนตบสีแดงมาสัมผัสกับมือตบสีเหลืองด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ภาพนั้นได้กระจายไปทั่วประเทศ

พวกเราได้ย้อนกลับมาสมทบกับขบวนแรลลี่จากนั้นได้มุ่งหน้าไปที่อนุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในเวลา 13.00 น. หลังจากสักการะขอพรในการเดินทางตลอด 28 วัน 2,438 กม.พวกเราก็ออกเดินทางมุ่งหน้านครปฐมเป็นเป้าหมายแรกโดยที่ไม่รู้เลยว่า 10 นาทีบนเวทีคนไทยนั้นจะเป็นข่าวใหญ่พาดหัวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในวันรุ่งขึ้น

คลิปข่าวช่อง 3 http://www.youtube.com/watch?v=cwVbT-FpG44
คลิปข่าว Voice TV http://www.youtube.com/watch?v=NfW5TALNTqw

วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555

บันทึกเส้นทางสีแดงเพื่อสันติภาพ (ตอน 13)


14 March 2012 at 00:31
13. เตรียมตัวขึ้นภาคเหนือ 

ผมใช้เวลาเตรียมกิจกรรมเส้นทางสีแดงภาคเหนือตลอดเดือนธันวาคมในปีนั้น ผมได้รับคำแนะนำในการเลือกเส้นทางและประสานงานแกนนำท้องถิ่นจากคุณใหญ่ สันติพงษ์ ลุงยิ้มตาสว่าง และคุณแดง แกนนำเชียงราย กิจกรรมนี้มีชื่อว่ากิจกรรม เส้นทางสีแดง (ราชประสงค์-เชียงราย) ข้อเรียกร้องของกิจกรรมยังคงต่อเนื่องมาจากกิจกรรมที่อีสาน ข้อเรียกร้องหลักคือการให้ปล่อยตัวแกนนำและผู้ต้องขังนปช.


โครงการ : เส้นทางสีแดง : ราชประสงค์-เชียงราย 

หลักการและเหตุผล :

โครงการเส้นทางสีแดง (ราชประสงค์-หนองคาย) ได้ดำเนินสำเร็จลุล่วงไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ตลอดระยะเวลากว่า 31 วันของโครงการ ( ตั้งแต่ 31 ตค.-30 พย. ) คณะปั่นจักรยานเส้นทางสีแดงได้เดินทางกว่า 18 จังหวัดรวมระยะทางกว่า 1,700 กม.เพื่อไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจคนเสื้อแดงและได้เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่ราชประสงค์ทั้งผู้ที่ถูกคุมขัง ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ พิการ ผู้ที่พลัดพรากจากครอบครัว ฯลฯ โครงการเพื่อมนุษยธรรมนี้ได้รับความสนใจจากคนเสื้อแดงและสื่อมวลชนทั่วประเทศ ในทุกจังหวัดที่ขบวนปั่นจักรยานผ่านไปได้สร้างขวัญและกำลังใจให้กับคนเสื้อแดงให้กลับคืนมาจากความหวาดกลัวต่อเหตุการณ์ สังหารหมู่ 19 พค. โครงการเส้นทางสีแดงได้สร้างรอยยิ้มและความสุขให้กับคนเสื้อแดงจำนวนมากที่ทราบข่าวและเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ทำให้ผู้จัดกิจกรรมมีความตั้งใจที่จะขยายกิจกรรมนี้ออกไปทุกภูมิภาคของประเทศ โดยตั้งเป้าหมายที่จะเดินทางไปภาคตะวันตก ภาคกลางและภาคเหนือเหนือเป็นลำดับถัดไป

โครงการเส้นทางสีแดง (ราชประสงค์-เชียงราย) จึงได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อสานต่อภารกิจดังกล่าว โดยจะยึดแนวทางกิจกรรมเพื่อมนุษยธรรมเช่นนี้ต่อไป โดยจะได้เดินทางไปเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจ และเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียในภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคเหนือตลอดระยะเวลา 28 วันของโครงการ

เป้าหมาย :       
1.  เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวแกนนำนปช.และผู้ต้องขังในคดีชุมนุมทั่วประเทศ
2.  เพื่อให้สังคมตระหนักถึงปัญหา 2 มาตรฐานทางกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย
3.  เพื่อนำไปสู่การแก้ไขให้นานาชาติตระหนักถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหลัง
เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา 2549
4. เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดทางให้อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร.ทักษิน ชินวัตรกลับประเทศโดยเร็วที่สุด

ระยะเวลา 16 มค.- 13 กพ. 2553 ( 28 วัน )

เส่นทาง : นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ พะเยา เชียงราย ( รวม 20 จังหวัด)

ระยะทาง 2,438 กม.

ในการเดินทางขึ้นภาคเหนือครั้งนั้นมีสมาชิกใหม่เพิ่มเติมเข้ามาหลายคน ที่สมควรบันทึกไว้ได้แก่คุณมัยภรณ์และคุณแกเร็ท ฮันเบอร์สมา (คุณมัยภรณ์เป็นแกนนำชัยภูมิที่จัดกิจกรรมต้อนรับเส้นทางสีแดงเมื่อไปอีสาน ส่วนคุณแกเร็ทเป็นสามีชาวคานาเดียนวัย 68 ที่เป็นฝรั่งเสื้อแดง อดีตเป็นผู้อำนวยการท่องเที่ยวของคานาดา) และคุณประดิษฐ์ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบที่ผมเคยไปเยี่ยมที่จ.สระบุรีและนำ Voice TV ไปสัมภาษณ์ (คณประดิษฐ์เป็นชาวอ.เถิน จ.ลำปาง ในวันที่ 10 เมย. 2553 ได้ร่วมกับคนเสื้อแดงปะทะกับทหารและเป็นหนึ่งในผู้ที่ไปยึดรถถังที่ผ่านฟ้า) รอ.ปรีชา เอกฉัตร อดีตนายทหารอากาศและพนักงานการบินไทยวัย 69 ปี ลุงแดน เหยี่ยวฟ้า นักปั่นอาวุโสวัย 74 ปีที่เคยปฏิบัติหน้าที่ในสงครามเวียดนามมาแล้ว

ในการเตรียมกิจกรรมขึ้นภาคเหนือนี้ผมต้องรับผิดชอบทุกเรื่องตั้งแต่การกำหนดเส้นทาง การคัดเลือกนักปั่น การประชาสัมพันธ์ การหาทุนสนับสนุน ฯลฯ สำหรับการกำหนดเส้นทางนั้นผมใช้วิธีลากแผนที่จากกรุงเทพโดยไล่ทีละจังหวัด กำหนดระยะทางในแต่ละวันระหว่าง 80-100 กม. สำหรับการประชาสัมพันธ์นั้นเนื่องจากกิจกรรมนี้ได้แรงส่งจากความสำเร็จในภาคอีสาน เมื่อ Asia Update ประชาสัมพันธ์ผ่านตัววิ่งทำให้กิจกรรมนี้เป็นที่สนใจทั่วประเทศ

สำหรับเงินทุนที่ใช้ในโครงการนั้นก็เป็นเช่นเดิมคือใช้เงินส่วนตัวสำรองของผมจ่ายก่อนออกเดินทาง ส่วนเงินที่จะนำไปมอบให้กับผู้ได้รับผลกระทบก็จะมาจากการเปิดบัญชีเงินฝาก และตู้บริจาคเล็กๆที่ติดโครงการไปด้วยจนเป็นเอกลักษณ์ของกิจกรรมเส้นทางสีแดงมาจนถึงบัดนี้

ในเดือนธันวาคมของปีนั้นผมจัดแรลลี่ในกรุงเทพประมาณ 2 ครั้ง คือในวันอาทิตย์ที่ 12 และ 26 มีผู้เข้าร่วมแรลลี่จำนวนมาก ขบวนแรลลี่จักรยาน มอเตอร์ไซด์ รถเก๋ง รถกระบะวิ่งไปตามถนนสายสำคัญๆของกรุงเทพไม่เว้นแม้แต่ถนนเยาวราช สีลม ซึ่งเป็นแหล่งธุรกิจและย่านคนเสื้อเหลือง สมาชิกนักปั่นเส้นทางสีแดงไม่กี่คนปั่นจักรยานนำหน้าขบวน

ภาพที่ผมจำติดตาได้ไม่เคยลืมคือภาพที่ขบวนเส้นทางสีแดงผ่านเยาวราช มีคนเสื้อแดงที่หัวใจรักความเป็นธรรมโบกธงแดงออกมาจากหน้าต่างตึกแถวหลายคน มีพระรุปหนึ่งยืนอยู่ข้างทาง ท่านหยิบย่ามของท่านชูขึ้นมาให้ขบวนได้เห็น ที่ย่ามมีเข็มกลัดติดอยู่และมีโลโก้กลุ่มวันอาทิตย์เป็นรูปพระอาทิตย์สีแดงอย่างชัดเจน ในวันที่ประเทศถูกปกครองด้วยเผด็จการทหาร แม้กระทั่งพระยังรักประชาธิปไตยและสนับสนุนประชาชน ภาพนั้นมีค่าเกินหมื่นแสนคำบรรยาย

วันอาทิตย์ 9 มค. ผมได้จัดกิจกรรมแรลลี่เส้นทางสีแดงในกรุงเทพอีกครั้งเนื่องจากตรงกับวันที่นปช.นัดชุมนุมใหญ่ที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ขบวนแรลลี่ในกรุงเทพวันนั้นได้ผ่านเส้นทางถนนพิษณุโลกที่มีกลุ่มม็อบคนไทยหัวใจรักชาติตั้งเตนท์อยู่บนฟุทบาทเพื่อเรียกร้องรัฐบาลในขณะนั้น (รัฐบาลเผด็จการอภิสิทธิ์-สุเทพ) ดำเนินการช่วยเหลือสองคนไทย (วีระ-ราตรี) ที่ถูกกัมพูชาจับตัวไป

เมื่อขบวนแรลลี่ผ่านปรากฏว่าแทนที่จะมีการกระทบกระทั่งกันของคนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองกลับกลายเป็นว่ากลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติได้โบกมือให้กับขบวนแรลลี่อย่างเป็นมิตร บางคนเอาน้ำมาให้ดื่ม บางคนมาขอจับมือพวกเรา ผมได้ถ่ายคลิปวีดีโอภาพที่น่าประทับใจนี้ไว้และนำมาเผยแพร่ใน youtube

ภายในระยะเวลาเพียง 3 วันคลิปนี้ก็มีคนเข้าไปดูกว่า 6,600 ครั้ง เหตุการณ์นี้เป็นปรากฏการณ์ที่น่าแปลกและน่าดีใจในสังคมไทยขณะนั้นเนื่องจากความขัดแย้งของคนสองสีเสื้อเป็นไปอย่างรุนแรง หลายคนคอมเมนท์ท้ายคลิปด้วยถ้อยคำที่สร้างสรรค์ ทำให้ผมตั้งใจที่จะนำขบวนแรลลี่เส้นทางสีแดงไปแวะทักทายม็อบต่างสีในวันเคลื่อนขบวนออกจากราชประสงค์ในวันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม 2554 โดยผมตั้งใจที่จะไปถ่ายคลิปบรรยากาศที่น่าชื่นใจนี้อีกครั้ง เจตนาจริงๆมีเพียงเท่านี้ ผมไม่เคยคิดเลยว่าเจตนาดีนี้จะนำความยุ่งยากและมีผลกระทบต่อกิจกรรมเส้นทางสีแดงอย่างรุนแรงในภายหลัง

คลิปเส้นทางสีแดงทักทายคนไทยหัวใจรักชาติ http://www.youtube.com/watch?v=sHo_EEUAAXQ


คุณมัยภรณ์ และคุณ Gerrit Hanbersma (ถ่ายที่โบนันซ่า)
คุณมัยภรณ์ และคุณ Gerrit Hanbersma (ถ่ายที่โบนันซ่า)

คุณมัยภรณ์ และคุณ Gerrit Hanbersma (ถ่ายที่โบนันซ่า)
คุณมัยภรณ์ และคุณ Gerrit Hanbersma (ถ่ายที่โบนันซ่า)

รอ.ปรีชา เอกฉัตร (ภาพนี้ถ่ายที่กัมพูชา)
รอ.ปรีชา เอกฉัตร (ภาพนี้ถ่ายที่กัมพูชา)

ลำนำเส้นทางสีแดง : เนื้อเพลงที่สะท้อนความในใจของเส้นทางสีแดง
ลำนำเส้นทางสีแดง : เนื้อเพลงที่สะท้อนความในใจของเส้นทางสีแดง

กำหนดการเดินทาง เส้นทางสีแดง (ราชประสงค์-เชียงราย)
กำหนดการเดินทาง เส้นทางสีแดง (ราชประสงค์-เชียงราย)

วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555

บันทึกเส้นทางสีแดงเพื่อสันติภาพ (ตอน 12)

10 March 2012 at 22:35
12. ปิดฉากภารกิจ เปิดฉากใส่ร้ายป้ายสี

กิจกรรมเส้นทางสีแดงครั้งนั้นประสพความสำเร็จอย่างงดงาม กิจกรรมนี้ได้นำเงินบริจาคที่ได้รับไปมอบให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมนับแสนบาท คนเสื้อแดงที่ติดตามข่าวกิจกรรมต่างรู้สึกได้ถึงขวัญและกำลังใจที่กลับคืนมา ภาพของนักปั่นจักรยาน 12 คนที่ปั่นจักรยานไปภาคอีสานตลอด 1,700 กม.ได้รับการเผยแพร่ทางสื่อของคนเสื้อแดง ไม่ว่าสถานีโทรทัศน์ Asia Update, Voice TV หรือแม้กระทั่งเฟซบุ้คของสมาชิกนักปั่นหลายคน

พวกเรากลับถึงกรุงเทพในเย็นวันที่ 1 ธันวาคม 2553 โดยรถไฟขบวนที่ 762 หนองคาย-กรุงเทพ ถึงหัวลำโพงเวลาประมาณ 18.00 น. มีคนเสื้อแดงหลายคนไปรอรับที่สถานีรถไฟและมีสื่อมวลชนจาก Voice TV ไปรอทำข่าว พวกเรานำจักรยานมาประกอบและปั่นจักรยานต่อไปยังอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อปิดโครงการที่นั่น สมาชิกหลายคนได้รับการสัมภาษณ์ถึงความรู้สึกที่ได้ร่วมกิจกรรม .. กิจกรรมเส้นทางสีแดง (ราชประสงค์-หนองคาย) บรรลุภารกิจในการตามหาประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ !

หลังจากกลับมาถึงกรุงเทพหลายอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป ในเดือนนั้นมหาวิทยาลัยมหิดลโดยศูนย์สันติวิธีได้เชิญสมาชิกหลายคนไปร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสพการณ์การเยี่ยมชาวบ้านกับคนเสื้อเหลือง 2 ครั้ง ครั้งแรกมีผม รต.ธนะสิทธิ์ พิพุฒ คุณแปีะ คนบางสนาน ครั้งที่สองมีผม รต.ธนะสิทธิ์ พิพุฒ และตัวแทนจากศูนย์สันติวิธีที่เคยไปร่วมกิจกรรมด้วยกันที่อีสาน มีคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ และคนเสื้อแดงกลุ่มอื่นด้วย

ผมได้มีโอกาสพูดให้คนต่างสีได้เห็นภาพของผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจนและอยู่ในชนบท ผมได้พูดถึงการเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจผู้สูญเสียที่มีทั้งคนติดคุก คนพิการ เด็กกำพร้า ครอบครัวผู้เสียชีวิตให้มีกำลังใจให้ผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายได้ และที่สำคัญที่สุดผมไม่ลืมที่จะเล่าเรื่องของคุณเกียรติศักดิ์ที่ตาบอดเพราะแก๊สน้ำตาที่อุดรธานี หากไม่มีกิจกรรมเส้นทางสีแดงเรื่องที่มีคุณค่าเช่นนี้คงเลือนหายไปจากความทรงจำในไม่ช้า เรื่องของคุณเกียรติศักดิ์เรียกน้ำตาจากผู้ฟังได้ทุกครั้งไม่ว่าผมจะพูดในโอกาสใด

วันหนึ่งระหว่างพักการเสวนา ผม รต.ธนะสิทธิ์ พิพุฒ และคุณแปีะบางสนานได้หารือกันเกี่ยวกับกิจกรรมเส้นทางสีแดงโครงการต่อไป ในขณะที่คุณแป๊ะต้องการไปภาคตะวันออก แต่ผมกับรต.ธนะสิทธิ์ พิพุฒต้องการขึ้นภาคเหนือ พวกเราจึงแก้ปัญหาด้วยการแยกกันทำกิจกรรม สาเหตุหนึ่งเนื่องจากว่าจำนวนสมาชิกนักปั่นเริ่มมีความเห็นที่แตกต่างกัน การแยกย้ายกันทำกิจกรรมจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด และยังช่วยให้การเยี่ยมเยียนคนเสื้อแดงทำได้อย่างทั่วถึงมากกว่า อนึ่ง การแยกย้ายกันทำกิจกรรมนี้เป็นความเห็นร่วมกันระหว่างผม รต.ธนะสิทธิ์ และคุณแป๊ะโดยไม่ได้ขัดแย้งกันแม้แต่นิดเดียว

ระหว่างที่เตรียมกิจกรรมขึ้นภาคเหนือปัญหาที่ผมไม่คาดคิดมาก่อนก็เกิดขึ้น มีการปล่อยข่าวลือเกี่ยวกับผมทางแคมฟร้อกและทางเฟซบุ้คจากสมาชิกบางคนที่ไปร่วมกิจกรรมเส้นทางสีแดงกับผมที่อีสาน ข้อกล่าวหาก็ไม่พ้นเรื่องเงินๆทองๆและเรื่องอุดมการณ์ ผมสังเกตุเห็นความผิดปกติเหล่านี้ในแคมฟร้อกก่อนและลามไปในเฟซบุ้ค และเนื่องจากขณะนั้นผมยังใหม่กับเฟซและใหม่กับการเป็นคนเสื้อแดงจึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากนักเนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ยิ่งผมเพิกเฉยเท่าไหร่คนที่ปล่อยข่าวยิ่งสนุกสนานกับการปล่อยข่าวมากขึ้นเท่านั้น ในแคมฟร้อกมีการด่าผมทุกคืน ในขณะที่ผมได้รับความสนใจมากขึ้นการปล่อยข่าวทำลายก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น

คืนหนึ่งผมให้สัมภาษณ์กิจกรรมเส้นทางสีแดงที่อีสานทางเวปไซด์คนเสื้อแดงแห่งหนึ่งที่มีผู้ฟังจำนวนมาก ผมเสร็จสิ้นการให้สัมภาษณ์ในเวลาเที่ยงคืน มีคนที่อยู่ในแคมฟร้อกขอให้ผมเข้าไปในแคมฟร้อก เมื่อเข้าไปก็ถูกรุมด่าว่าอย่างเสียๆหายๆ เมื่อผมพยายามชี้แจงก็ถูกด่าแบบหยาบๆคายๆ ผมอดทนชี้แจงแบบเสียความรู้สึกประมาณชั่วโมงเศษก็ปิดไมค์ ต่อมาภายหลังจึงได้รู้ว่ามีมือดีแอบอัดเทปเอาไว้และเป็นเครื่องมือในการทำลายผมภายหลัง และหลังจากนั้นผมก็ไม่เคยเข้าแคมฟร้อกอีกเลยจนกระทั่งบัดนี้

คลิป Voice TV ปิดกิจกรรมเส้นทางสีแดง http://www.youtube.com/watch?v=96E_KsvenbA

วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

บันทึกเส้นทางสีแดงเพื่อสันติภาพ (ตอน 11)

8 March 2012 at 01:35

11. เยี่ยมคุณเกียรติศักดิ์ มาอาสา (ชายตาบอดเพราะแก๊สน้ำตาเมื่อ 10 เมย.2533)

วันที่ 25 พย.2553 พวกเราเดินทางถึงอุดรธานี ก่อนหน้านั้นผมได้รับโทรศัพท์จากคุณนิดซึ่งเป็นเลขาของคุณหมอเหวงแจ้งมาว่าคุณขวัญชัย ไพรพนา (ขณะนั้นถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ) ได้ขอให้ขบวนจักรยานเส้นทางสีแดงไปแวะเยี่ยมให้กำลังสถานีวิทยุชุมชนคนรักอุดรซึ่งเพิ่งเปิดสถานีอีกครั้งหลังจากที่ถูกทหารปิดไปหลังเวทีที่ราชประสงค์แตก ผมนำครึ่งหนึ่งของขบวนจักรยานเส้นทางสีแดงแวะไปให้กำลังใจ และกลับมาที่พักในช่วงเย็น

เย็นวันถัดไปมีเวทีใหญ่ต้อนรับกิจกรรม มีคนเสื้อแดงไปร่วมงานนับพันคน มีคนเสื้อแดงจากหลายจังหวัดตามไปให้กำลังใจพวกเราถึงอุดร มีคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุขเป็นผู้ปราศัยหลัก งานในวันนั้นถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของกิจกรรมเส้นทางสีแดง คุณแป๊ะ บางสนานและสมาชิกทีมปั่นจักรยานได้ขึ้นเวทีให้ความบันเทิงกับชาวบ้านที่มาร่วมงาน ผมได้ขึ้นเวทีกล่าวรายงานกิจกรรม และได้ร้องเพลงบนเวทีครั้งแรกในชีวิต เพลงที่ร้องคือเพลงนักสู้ธุลีดินของคุณจิ้น กรรมาชน ก่อนจะร้องเพลงผมได้ขอให้ทุกคนได้ร่วมกันลุกขึ้นยืนเพื่อไว้อาลัยให้กับวีรชนที่จากไป บรรยากาศกิจกรรมในคืนนั้นได้รับการเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ Voice TV

เช้าวันที่ 27 พย. 2553 พวกเราปั่นจักรยานไปจังหวัดหนองคายซึ่งเป็นจังหวัดสุดท้าย ตลอดทางก่อนเข้าเมืองมีพี่น้องเสื้อแดงชาวหนองคายมาต้อนรับเป็นจำนวนมาก มีการตั้งจุดต้อนรับพวกเรา 3 จุดนอกเมืองบริเวณใต้สะพานลอย ทุกจุดมีป้ายขนาดความยาวไม่ต่ำกว่า 70 เมตรเขียนต้อนรับกิจกรรมนี้อย่างยิ่งใหญ่ ความรู้สึกของพวกเราที่ปั่นจักรยานที่แต่ละจุดเป็นความรู้สึกที่ภูมิใจในความสำเร็จที่มาถึง หลังจากบากบั่นมา 28 วัน ในท้ายที่สุดพวกเราได้มาถึงหนองคายโดยสวัสดิภาพ

คืนวันนั้นมีการจัดงานต้อนรับกิจกรรมเส้นทางสีแดงกลางสนามกีฬาจังหวัดหนองคาย มีคนเสื้อแดงจากจ.บึงกาฬ (ขณะนั้นยังเป็นอ.บึงกาฬ ขึ้นกับหนองคาย) มาร่วมงานจำนวนมาก ที่นี่เราได้พบผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมซึ่งเป็นครอบครัวของเด็กกำพร้าจำนวน 3 คนที่พ่อถูกทหารยิงเสียชีวิต ที่หลังเวทีผมได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณแม่ของเด็กพร้อมกับสอบถามถึงผลกระทบทางจิตใจที่เด็กได้รับ ทราบว่าลูกชายคนโตอายุ 10 ขวบกลายเป็นเด็กซึมเศร้า ลูกสาวคนกลางอายุ 5 ขวบนอกจากซึมเศร้าแล้วยังมีอาการหวาดผวา กลัวคนแปลกหน้า ส่วนลูกชายคนเล็กอายุ 3 ขวบยังเด็กเกินกว่าจะรู้ว่าพ่อจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ เขาเที่ยวบอกกับคนไกล้ชิด (ครู ญาติพี่น้อง เพื่อนๆ) ว่าพ่อเขามาหาเขาตอนกลางคืน พาเขาไปเที่ยวและซื้อขนมให้ (ความเห็นจากผู้เขียน - เด็กคนนี้สร้างพ่อขึ้นในจินตนาการเพื่อทดแทนความสูญเสียที่ได้รับ)

ผมเชิญแม่ (ทราบชื่อภายหลังว่าคุณแดง จันทร์หา) และลูกทั้งสามขึ้นเวทีเพื่อรับมอบเงินบริจาค และได้กล่าวฝากฝังคนเสื้อแดงให้ช่วยดูแลไม่ทอดทิ้งครอบครัวนี้ ที่เวทีนี้ผมได้ขึ้นกล่าวรายงานความสำเร็จกิจกรรมและกล่าวปิดกิจกรรม หลังจากนั้นคุณแป๊ะได้ขึ้นร้องเพลงให้ความสุขกับพี่น้องเสื้อแดง คืนนั้นบรรยากาศผ่านไปอย่างสนุกสนาน มีคนเสื้อแดงจำนวนนับร้อยคนที่อยู่เป็นเพื่อนค้างคืนกับเราที่สนามกีฬาแห่งนั้น

เช้าวันถัดไปพวกเราปั่นจักรยานเพื่อไปถึงเป้าหมายสุดท้าย นั่นคือสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ระยะทางเพียงไม่กี่กิโลเมตร ที่นั่นนักข่าวจาก Voice TV ไปรอทำข่าวอยู่แล้ว มีพี่น้องเสื้อแดงที่ตามไปให้กำลังใจจำนวนมาก ผมและรต.ธนะสิทธิ์ พิพุฒได้ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมของกิจกรรมและโครงการถัดไป จากนั้นครึ่งหนึ่งของทีมก็ได้แยกกลับกรุงเทพ ในขณะที่ผม รต.ธนะสิทธิ์ พิพุฒ รอ.พิสิทธิ์ พิพุฒ และสมาชิกอีกครึ่งหนึ่งตกลงใจที่จะย้อนกลับมาที่อุดรธานีและทำกิจกรรมเพิ่มเติม

พวกเราได้ย้อนกลับมาที่สถานีวิทยุชุมชนคนรักอุดร และได้รับการต้อนรับโดยคุณอาภรณ์ สาระคำ (ภรรยาคุณขวัญชัย สาระคำ หรือไพรพนา) และแจ้งว่าเราประสงค์ที่จะทำกิจกรรมเยี่ยมเยียนผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากกำหนดเดิม ข่าวดังกล่าวสร้างความดีใจให้กับพี่น้องเสื้อแดงที่อยู่ที่สถานีมาก ผมได้รับเชิญให้ไปออกอากาศและร้องเพลงนักสู้ธุลีดินให้กับชาวอุดรฟังอีกครั้งจากห้องส่ของทางสถานี

สองวันที่เหลือคุณอาภรณ์ สาระคำได้พาพวกเราไปเยี่ยมครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ 4 ครอบครัว หนึ่งในนั้นเป็นครอบครัวของชายตาบอดที่พิการเพราะแก๊สน้ำตาเมื่อวีนที่ 10 เมย.2553 วันนั้นเป็นวันที่ 29 พย.2553 พวกเราเดินทางไปถึงที่บ้านเล็กๆหลังหนึ่งที่บ้านสามพร้าว อ.เมือง ไม่ไกลจากสถานีวิทยุคนรักอุดรมากนัก

พวกเราพบชายคนหนึ่งอายุประมาณ 50 ปี รูปร่างผอมสูง พูดจาสุภาพเรียบร้อย เขาพิการตาซ้ายมาตั้งแต่กำเนิด เขาเล่าว่าเขาเดินทางไปร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภาตั้งแต่วันที่ 12 มีค.2553 ในวันที่ 10 เมย.เขาอยู่ที่ผ่านฟ้าและถูกแก๊สน้ำตาที่ทหารโยนลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ เขาได้รับบาดเจ็บและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล เขาเล่าว่าไม่ได้รับการดูแลรักษาดีเท่าที่ควรจนทำให้ดวงตาที่เหลืออยู่เพียงข้างเดียวบอดสนิท ในขณะที่เขาพูดผมมองเข้าไปในหน้ากากเล็กๆที่ครอบดวงตาข้างขวาของเขาไว้ .. ผมเห็นน้ำตาที่ไหลลงมาเป็นสายจากดวงตาข้างนั้น

ผมนำธงชาติที่ผมติดตัวมาด้วยคลุมไหล่ให้กับเขาพร้อมกับบอกเขาว่า ธงชาติผืนนี้ผมใช้คลุมไหล่มาตลอดระยะทาง 1,700 กม.ที่ผมเดินทางจากราชประสงค์มาที่บ้านหลังนี้ ผมขอมอบธงชาติผืนนี้ให้กับคุณเกียรติศักดิ์เป็นที่ระลึก ขอให้จำไว้เสมอว่าพวกเราคนไทยทุกคนเป็นหนี้ดวงตาข้างนั้นของคุณเกียรติศักดิ์ ประชาธิปไตยประเทศไทยเป็นหนี้ดวงตาของคุณเกียรติศักดิ์

เขาพูดตอบด้วยน้ำเสียงแผ่วเบา เขากล่าวขอบคุณและขอร้องให้ผมนำคำพูดที่เขาจะกล่าวต่อไปนี้มาถ่ายทอดให้กับคนเสื้อแดงทุกที่ที่มีโอกาส ขอให้ถ่ายทอดทางอินเทอร์เนท ถ่ายทอดทุกเวทีที่ผมไป คำพูดของเขาที่ผมจำได้ เขาพูดว่า ... ถึงแม้ว่าตาเขาจะบอด แต่ใจเขาไม่บอด เขาไม่เสียดายดวงตาข้างนี้ เขาขออุทิศดวงตาข้างนี้ให้กับประชาธิปไตยของลูกหลานไทย

วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2555

บันทึกเส้นทางสีแดงเพื่อสันติภาพ (ตอน 10)

2 March 2012 at 23:52

10. เดินหน้าตามหาความยุติธรรม

วันแล้ววันเล่าที่นักปั่นจักรยานเส้นทางสีแดงได้ปั่นจักรยานเดินทางจากจังหวัดหนึ่งไปสู่อีกจังหวัดหนึ่ง ภาพที่น่าประทับใจผ่านสายตาและความทรงจำที่ไม่มีวันลืม ภาพของชาวไร่ชาวนาที่เกี่ยวข้าวยืนโบกมือให้กับพวกเราที่ใส่เสื้อแดงปั่นจักรยานผ่านพวกเขาไป ภาพของคนเฒ่าคนแก่ที่วิ่งออกมาจากหมู่บ้านเล็กๆโบกมือให้กำลังใจพวกเราพร้อมกับน้ำตาที่นองหน้า พวกเขาเหล่านั้นคือตัวแทนของคนชนบทที่เดินทางมาชุมนุมที่กรุงเทพในหน้าร้อนของปี 2553 และต้องเห็นภาพเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเขายิงตาย พวกเขาคงคิดว่าเสื้อแดงคงถูกปราบหมดแล้วและคงไม่มีวันที่จะได้เห็นคนที่ใส่เสื้อแดงอีก

พวกเราพบความจริงอีกอย่างว่าคนเสื้อแดงคือขวัญใจของเด็กๆ ในทุกจังหวัดที่ปั่นจักรยานผ่านตัวเมืองในยามบ่ายที่โรงเรียนเลิก เด็กๆจะโบกมือตะโกนเชียร์ให้กำลังใจพวกเราด้วยคำพูดที่เหมือนๆกันว่า "เสื้อแดงสู้ๆ" ผมเคยขึ้นเวทีและตั้งคำถามนี้กับผู้ฟัง ผมถามเขาว่าเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนี้? ในขณะที่รัฐบาลพยายามประโคมข่าวให้คนเสื้อแดงดูน่ากลัว เป็นผู้ก่อการร้าย แต่ทำไมผู้ก่อการร้ายปั่นจักรยานถึงเป็นขวัญใจของเด็กๆในภาคอีสาน เพราะพวกเขาเห็นคนเสื้อแดงสู้กับทหารด้วยมือเปล่าใช่หรือไม่? เพราะพวกเขาเห็นคนเสื้อแดงล้อมรถถังด้วยมือเปล่าใช่หรือไม่? หากถามเด็กๆเหล่านั้นว่าให้เลือกระหว่างเป็นทหารหรือเป็นคนเสื้อแดงเด็กๆจะตอบว่าอย่างไร?

วันที่ 24 ตค.2553 พวกเราถึงสกลนครไปให้กำลังคนเสื้อแดงที่อ.เต่างอยที่หมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง มีเวทีเล็กๆที่เป็นเวทีชาวบ้าน ขากลับพวกเราปั่นจักรยานผ่านทุ่งนามืดมิดมีเพียงแสงจันทร์ที่ส่องนำทาง วันที่ 25 ตค.พวกเราผ่านบ้านหนองกุง อ.วาริชภูมิ จ.สกลนครเพื่อคารวะอนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ และพักที่อ.พังโคน วันที่ 25 ตค.2553 พวกเราถึงจ.อุดรธานีซึ่งกิจกรรมเส้นทางสีแดงมีกำหนดทำกิจกรรมที่นี่ 2 วัน

วันที่ 26 ตค. 2553 เช้าพวกเราไปยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีเพื่อติดตามความคืบหน้าคดีเผาศาลากลาง บ่ายพวกเราไปเยี่ยมเยียนผู้ต้องขังที่เรือนจำกลางอุดรธานี เย็นวันนั้นมีการจัดงานต้อนรับขบวนปั่นจักรยานเส้นทางสีแดงมีคนไปร่วมนับพันคน มีนักข่าวจาก Voice TV ไปทำข่าว

ในทุกจังหวัดที่มีเวที ผมและคุณแป๊ะ คนบางสนานจะเป็นตัวแทนของกิจกรรมเส้นทางสีแดงขึ้นเวที ผมจะรายงานความคืบหน้าของกิจกรรมและการเยี่ยมเยียนชาวบ้าน คุณแป๊ะจะขึ้นเวทีร้องเพลงเพื่อสร้างความบันเทิง เพลงที่ฮิทมากในขณะนั้นคือเพลงรักคนเสื้อแดงซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นเพลงอมตะของคนเสื้อแดงไปแล้ว นอกจากนี้จะมีนักปั่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารขึ้นไปเต้นรำบนเวทีเพื่อสร้างความสนุกสนานและเป็นกันเองกับชาวบ้าน ก่อนที่จะเข้าอุดร ร.ต.ธนะสิทธิ์ พิพุฒ จะอ่านกลอนบนเวทีพร้อมกับคุณแปีะ คนบางสนาน ดังนี้

" พฤกษภผกาสร อีกกุญชรอัดปลดปลง
โททนเสน่ห์คง สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรี
สถิตย์ทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ”

(คำแปล)

วัว ควายและช้างที่ตายลงไป ยังมีเขา มีงาไว้ให้ทำประโยชน์ได้
แต่สำหรับมนุษย์นั้น เมื่อตายไปแล้ว ไม่มีส่วนใดในร่างกายเหลือไว้ให้เกิดประโยชน์
 จะมีก็แต่ความดีและความชั่วที่ได้ทำมาแล้วเท่านั้น ที่จะจารึกเอาไว้ในโลกนี้

อนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ บ้านหนองกุง ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร
อนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ บ้านหนองกุง ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร

อนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ บ้านหนองกุง ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร
อนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ บ้านหนองกุง ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร

นักปั่นจักรยานเส้นทางสีแดงถ่ายภาพหมู่ที่หน้าอนุสรณ์สถาน จิตร ภูมิศักดิ์
นักปั่นจักรยานเส้นทางสีแดงถ่ายภาพหมู่ที่หน้าอนุสรณ์สถาน จิตร ภูมิศักดิ์