วันพุธที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

บันทึกเส้นทางสีแดงเพื่อสันติภาพ (9)

29 February 2012 at 19:54

9. ผลจากการถูกลอบยิงที่ลำตะคอง

ไม่เกิน 1 ชั่วโมงหลังจากเหตุการณ์ลอบยิงที่ลำตะคอง สังคมเสื้อแดงในโลกไซเบอร์ได้วิพากวิจารณ์และแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง มีผู้ถ่ายรุปคนร้ายและนำไปลงเฟซบุ้คในทันที ในบ่ายนั้นข้อมูลของคนร้ายก็ปรากฏออกมาว่อนอินเทอร์เนต ก่อนที่จะถูกลอบยิงกิจกรรมเส้นทางสีแดงเป็นที่รับรู้กันไม่มากนัก แต่หลังจากบ่ายวันนั้นสถานการณ์เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ข่าว DNN ในเย็นวันนั้นรายงานข่าวนี้และแพร่ภาพไปทั่วประเทศ

ในคืนวันนั้นพวกเราเดินทางถึงนครราชสีมา พวกเราตั้งโต๊ะแถลงข่าวในวัดกลางดึกผ่านคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ้คที่เชื่อมพวกเราเข้าสู่โลกไซเบอร์ พวกเรายืนยันถึงเจตนาที่จะดำเนินกิจกรรมนี้ต่อจนจบโดยไม่มีสมาชิกแม้แต่คนเดียวที่หันหลังกลับ ผมส่งสำเนาหนังสือที่ทำถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปให้กับเวปไทยอีนิวส์ซึ่งได้เผยแพร่ข้อความในหนังสืออย่างทันที การกระทำนั้นเป็นการเพิ่มความกดดันให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำชับตำรวจท้องที่ในทุกจังหวัดที่เหลือให้ดูแลความปลอดภัยกิจกรรมนี้จนจบ

พวกเราทำกิจกรรมนี้ต่อตามที่กำหนดไว้ในแผนการเดินทาง ที่นครราชสีมาพวกเราร่วมกับคุณสมบัติ บุญงามอนงค์และกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงทำกิจกรรมทำความสะอาดโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ถูกน้ำท่วม ผมเป็นตัวแทนกิจกรรมมอบเงินบริจาคให้กับผุ้อำนวยการโรงเรียน วันที่ 8 พย.2553 พวกเราไปเยี่ยมคุณยายของอ้วน บัวใหญ่ (นายศักนรินท์ กองแก้ว) การ์ดนปช.ที่ถูกยิงหน้าบ้านของตัวเองจากอิทธิพลมืด วันที่ 9 พย.พวกเราถึงชัยภูมิซึ่งมีการจัดเวทีที่อนุเสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล มีอ.สุรชัย แซ่ด่านมาร่วมปราศัย ในงานมีการเชิญผู้บาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2553 ผมและนักปั่นจักรยานคนหนึ่งซึ่งเป็นอดีตนาวิกโยธินเดินถือตู้บริจาคเรี่ยไรเงินและมอบเงินที่ได้ทั้งหมดในคืนนั้นให้กับผู้ได้รับผลกระทบที่เราเชิญขึ้นเวที

วันที่ 10 พย.2553 พวกเราเดินทางถึงอ.ชุมแพ จ.ขอนแก่นซึ่งมีขบวนแรลลี่ของชาวบ้านมารับพวกเราถึงนอกเมือง ชาวบ้านตั้งเวทีปราศัยในวัดและทำอาหารเลี้ยงพวกเราในวัด สมาชิกของเราคนหนึ่งถามชาวบ้านว่าทำไมต้องปิดวัดด้วยเขาบอกว่าเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกนำสิ่งแปลกปลอมมาปนในอาหาร (สถานการณ์ในขณะนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเช่นเดียวกับที่เคยเกิดที่ราชประสงค์ก่อนเวทีแตก) มีการบายศรีสู่ขวัญให้กับสมาชิกเส้นทางสีแดงทุกคน นี่เป็นครั้งแรกของหลายๆคนที่เข้าพิธีบายศรีสู่ขวัญ หลายคนน้ำตาซึมเพราะความตื้นตัน ผมเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น

วันที่ 11 พย.2553 พวกเราเดินทางถึงขอนแก่น ชาวบ้านพาพวกเราไปวางดอกไม้แดงหน้าบ้านของสส.ประจักษ์ แก้วกล้าหาญ (สส.พรรคเพื่อไทยที่ย้ายไปสังกัดภูมิใจไทยท่ามกลางข่าวลือการขายตัว) เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนเสื้อแดงที่ถูกยิงเสียชีวิตหน้าบ้านสส.คนนี้ในบ่ายวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 หลังจากเวทีแตก มีตำรวจไปดูแลความเรียบร้อยไม่ต่ำกว่า 50 คน วันถัดไปได้ไปเยี่ยมผู้ต้องขังที่เรือนจำกลางขอนแก่น บ่ายวันนั้นเราปั่นจักรยานเข้าไปในวัดพระธาตุหนองแวง มีเด็กนักเรียนตัวเล็กๆหลายสิบคนวิ่งกรูเข้ามาห้อมล้อมพวกเราพร้อมกับตะโกนคำว่า "เสื้อแดงสู้ๆๆ" มีนักข่าวจาก People Channel ตามไปทำข่าวพอดี บรรยากาศที่น่าประทับใจนี้ได้เผยแพร่ทางสถานี People Channel ในเย็นวันนั้น

วันที่ 13 พย. 2553 พวกเราเดินทางถึงจ.กาฬสินธุ์ วันที่ 14 พย.ถึงมหาสารคามซึ่งมีเวทีศาลากลางจังหวัด มีคุณสมบัติ บุญงามอนงค์มาร่วมปราศัยด้วย ที่ยโสธรวันที่ 16 พย.มีเวทีและมีการเชิญผู้ได้รับผลกระทบมาหลายคน ที่จำได้มี 2 คน คนหนึ่งเป็นคุณลุงอายุประมาณ 60 ถูกยิงที่ขา อีกคนเป็นเด็กหนุ่มอายุไม่เกิน 20 ปีถูกยิงเข้าที่ท้องไส้ทะลัก (กระสุนไม่ถูกอวัยวะสำคัญ) วันนั้นได้เชิญทั้ง 2 คนขึ้นเวทีและสัมภาษณ์และมอบเงินบริจาค คนแรกยังต้องใช้ไม้เท้าในการเดินเหินส่วนคนหลังหายดีแล้วเหลือเพียงรอยแผลเป็นที่ท้องเป็นอนุสรณ์ของความกล้าหาญ

วันที่ 18 พย.พวกเราถึงอ.ราศรีไศล จ.ศรีษะเกษในเวลาเที่ยง มีชาวบ้านหลายสิบคนไปรอที่วัดบ้านหว้านคำ ที่นั่นเราได้พบกับคุณยายคนหนึ่งอายุ 60 ปีมานั่งรอผูกข้อมือพวกเราพร้อมกับด้ายสีขาว ชาวบ้านบอกว่าคุณยายคนนี้เป็นอัมพฤกษ์และไม่ยอมออกจากบ้านมาหลายปี แต่เมื่อคุณยายรู้ว่ามีคนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งปั่นจักรยานมาถึงศรีษะเกษเพื่อมาให้กำลังใจคุณยายบอกกับลูกหลานให้พามาพบ หลังทานข้าวเที่ยงพวกเราได้มีไปที่กุฏิหลังหนึ่งที่อยู่ในวัด ชาวบ้านบอกว่าเป็นกุฏิที่พ่อและแม่ของวีรชนท่านหนึ่งสร้างไว้ให้เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับลูกชายที่เสียชีวิตที่เวิลด์เทรดในบ่ายวันที่ 19 พค.2553 ทราบภายหลังว่าชื่อนายกิตติพงศ์ สมสุข (น้องอ๊าท) อายุ 19 ปี เสียชีวิตที่เวิลด์เทรดในขณะที่มือข้างหนึ่งยังถือถังดับเพลิง

วันที่ 21 พย.พวกเราถึงมุกดาหารและไปเยี่ยมผู้ต้องขังเสื้อแดงนับสิบคน ที่มุกดาหารครอบครัวผู้ต้องขังทั้งหมดมีฐานะยากจน บางครอบครัวเดือดร้อนมากเพราะลูกชายที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงต้องมาติดคุก บางครอบครัวสามีติดคุกภรรยาต้องรับภาระหน้าที่ในการดูแล วันที่ 22 พย.พวกเราเดินทางถึงอ.ธาตุพนม จ.นครพนม มีนักปั่นจากนครพนมมาร่วมกิจกรรมด้วยเป็นจำนวนมาก เย็นนั้นมีเวทีที่สวนสาธารณะซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่สวยและสะอาดที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศที่ผมพบมา คืนนั้นเรานอนที่วัดพระธาตุพนมซึ่งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของนครพนม

บันทึกเส้นทางสีแดงเพื่อสันติภาพ (ตอน 8)


29 February 2012 at 00:49
8. 4 พย.2553 ถูกลอบยิงที่ลำตะคอง

ก่อนออกเดินทาง 5 วันผมทำหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อขอให้ตำรวจดูแลความปลอดภัยในการทำกิจกรรม จุดประสงค์คือต้องการให้กิจกรรมนี้อยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนั้นไม่น่าไว้วางใจ การลอบสังหารคนเสื้อแดงมีอยู่เป็นระยะ และขณะนั้นทหารมีอำนาจคับฟ้าตามที่พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้อำนาจไว้ หนังสือดังกล่าวผมไปส่งด้วยตนเองพร้อมกับลงเลขรับไว้เป็นหลักฐาน

กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากคนเสื้อแดงค่อนข้างมาก เวปไซด์หลายแห่งประชาสัมพันธ์พาดหัวด้วยข้อความว่า เส้นทางสีแดงเดินทัพทางไกล 1,700 กม.ตามหาความยุติธรรม หนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ฉบับต้นเดือนพฤศจิกายน 2553 นำกิจกรรมนี้ไปลงโดยละเอียด โดยได้ระบุว่าเป้าหมายของกิจกรรมนี้ก็เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวแกนนำนปช.และผู้ต้องขังเสื้อแดงทั่วประเทศ เพื่อให้สังคมตระหนักถึงปัญหา 2 มาตรฐานกระบวนการยุติธรรมในเมืองไทย และเพื่อให้นานาชาติตระหนักถึงปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมืองไทย ข้อมูลที่มติชนนำมาลงคงจะได้มาจากเมล์ที่ผมส่งให้กับเพื่อนเสื้อแดงในโลกไซเบอร์

วันที่ออกขบวนคือวันที่ 31 ตค.2553 บรรยากาศที่ราชประสงค์เต็มไปด้วยความคึกคักและมีชีวิตชีวา คนเสื้อแดงไปร่วมส่งขบวนนี้หลายร้อยคน พวกเราร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน ขวัญและกำลังใจดีเยี่ยม จุดเด่นของงานอยู่ที่การนำขบวนปั่นจักรยานโดยคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ซึ่งปั่นจักรยานไปส่งพวกเราถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ที่นั่นมีคนเสื้อแดงรออยุ่เป็นจำนวนมาก ทุกคนตะโกนคำสามคำที่ดังติดหูอยุ่ทุกวันนี้ ... "ปล่อยแกนนำ ปล่อยแกนนำ"

กลุ่มเส้นทางสีแดง และกลุ่มสองขาเพื่อประชาธิปไตยเป็นกลุ่มหลักที่รับหน้าที่ปั่นจักรยานตลอดระยะทาง 1,700 กม. ส่วนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงและคุณสมบัติ บุญงามอนงค์จะไปสมทบกับกิจกรรมในวันเสาร์-อาทิตย์ เช่นเดียวกับตัวแทนจากมูลนิธิวีรชนเพื่อประชาธิปไตยที่นำผ้าห่มไปแจกในวันเสาร์-อาทิตย์เช่นกัน สื่อมวลชนที่ติดตามข่าวตลอดได้แก่ Voice TV และ People Channel

ในวันแรกที่ออกขบวนเดินทาง Voice TV นำเสนอข่าวได้อย่างน่าประทับใจ พวกเราผ่านจังหวัดปทุมธานี อยุธยา สระบุรี ตลอด 3 วันแรกเป็นการระดมเงินบริจาคที่ได้รับแต่ละจังหวัด ที่ตลาดรังสิตตำรวจที่มาอำนวยความสะดวกถึงกับพาเดินเข้าไปในตลาดเพื่อรับเงินบริจาคจากแม่ค้าเสื้อแดง

คุณแป๊ะมาสมทบกับกิจกรรมในวันที่ 4 ของกิจกรรม ในวันนั้นพวกเราเดินทางไปพักที่วัดป่าสีวลี อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ที่นี่ผมได้แจ้งให้ Voice TV ไปทำข่าวการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบรายแรก ซึ่งเป็นชาวลำปางที่อยู่ในเหตุการณ์ที่ผ่านฟ้าวันที่ 10 เมย.2553 เขาบอกกับผู้สื่อข่าวว่ายังไม่สามารถกลับบ้านได้เนื่องจากทหารตามไปถึงบ้าน

เช้าวันที่ 4 พย.พวกเราออกเดินทางมุ่งหน้าจ.นครราชสีมา ในขณะที่ผ่านลำตะคองพวกเราก็ถูกลอบยิงโดยตำรวจนอกเครื่องแบบ (ทราบชื่อภายหลังคือ พ.ต.ท.ฐาปนฤทธิ์ อุทัยวงศ์ สังกัดกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์) ในขณะที่เกิดเหตุผมขี่จักรยานอยู่คันที่ 4 หรือ 5 ด้านหน้าเป็นนักปั่นที่เป็นทหารทั้งนั้น สิบเอกฉลาด สงเคราะห์สุขที่ปั่นเป็นคันแรกคงจะเห็นพิรุธจากคนร้ายที่ซุ่มอยู่ข้างทางจึงตะโกนให้นักปั่นที่ขับตามมาช่วยกันจับกุมไว้ โชคไม่ดีเป็นของคนร้ายที่คนที่เข้าจับกุมล้วนเป็นทหารทั้งสิิ้น หนึ่งในนั้นคือรอ.พิสิทธิ์ พิพุฒ (ผู้กองเต่า) สมาชิกรุ่นก่อตั้งของกลุ่มสองขาเพื่อประชาธิปไตย

คนร้ายใช้อาวุธปืนลูกซองบรรจุกระสุนลูกปรายเบอร์ 12 จำนวน 4 นัด ในขณะที่จับกุมได้มีการต่อสู้แย่งอาวุธปืนและมีเสียงปืนดัง 1 นัด หลังจากที่ถูกจับกุมมีชาวบ้านมามุงดูเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านที่เป็นคนเสื้อแดงหลายคนมีความรู้สึกโกธรแค้นกรูเข้าไปจะทำร้าย ผมและสมาชิกอีกหลายคนได้ช่วยกันห้ามปราม เมื่อถูกจับกุมคนร้ายร้องหาโทรศัพท์มือถือ และพูดจาวกวนเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีอาการสติไม่ดี เช่นเมื่อถูกถามว่าทำไมต้องพกปืน คนร้ายตอบว่าผมถูกปองร้าย

ขอบันทึกไว้เป็นหลักฐานณ.ที่นี้ว่าก่อนหน้าจะเข้าเขตสภ.หนองสาหร่ายจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสระบุรีขี่รถนำขบวนเพื่ออำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยตามที่ผมทำหนังสือไป แต่หลังจากที่เข้าเขตสภ.หนองสาหร่ายแล้วไม่ปรากฏว่ามีรถตำรวจมารับช่วงต่อ ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ลอบยิง ผมไม่ทราบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ และไม่อยากจะคาดเดา

หลังเกิดเหตุไม่นาน ตำรวจแทบจะแห่กันมาทั้งโรงพัก สำหรับผมมันเป็นเรื่องตลกที่น่าสมเพช คนเสื้อแดงกลุ่มเล็กๆที่กล้าลุกมาต่อสู้กับเผด็จการทหารอย่างสันติด้วยการปั่นจักรยานให้กำลังใจชาวบ้าน (และได้ทำหนังสือแจ้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก่อนออกเดินทาง) กลับถูกคนร้ายซึ่งมียศเป็นถึงสารวัตรลอบยิง และอาวุธที่ใช้ก็เป็นอาวุธร้ายแรงบรรจุกระสุนลูกปรายเบอร์ 12 ถึง 4 นัด คนร้ายคงจะตั้งใจยิงทั้งขบวน

ผมเคยตั้งคำถามกับคุณสมบัติว่าทำไมคนร้ายจึงต้องใช้ปืนลูกซองแทนที่จะใช้ปืนสั้นซึ่งสะดวกต่อการพกพา คำตอบที่ได้รับคือคนร้ายน่าจะเจตนาใช้ปืนลูกซองซึ่งเป็นปืนที่ชาวบ้านใช้กันทั่วไป หากลงมือสำเร็จสื่อมวลชนอาจจะลงข่าวทำนองว่าคนอีสานเกลีดชังคนเสื้อแดงและต้อนรับด้วยกระสุนปืน และเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งต่อไปก็จะมีพรรคการเมืองที่ปั่นกระแสนี้เพื่อทำลายความนิยมของพรรคเพื่อไทยที่สนับสนุนคนเสื้อแดง ดังนัั้น พรรคการเมืองไหนจะได้ประโยชน์และนักการเมืองคนใดอยู่เบื้องหลังคำสั่งลอบยิงนี้คงไม่ยากเกินกว่าจะคาดเดา

คลิปคลื่อนขบวนราชประสงค์ Voice TV http://www.youtube.com/watch?v=yDsSvPk36Ic
คลิปกิจกรรมสระบุรี http://www.youtube.com/watch?v=gX7EGe5EbaI
คลิปสัมภาษณ์ผู้ได้รับผลกระทบที่วัดป่าสีวลี http://www.youtube.com/watch?v=KAQv-OK-INk&feature=related

วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

บันทึกเส้นทางสีแดงเพื่อสันติภาพ (ตอน 7)


24 February 2012 at 01:52
7. กิจกรรมเส้นทางสีแดงครั้งที่ 1 (ราชประสงค์-หนองคาย) 31 วัน 18 จังหวัด 1,700 กม.

ผมได้พบกับคุณแป๊ะครั้งแรกที่อิมพีเรียลลาดพร้าวประมาณต้นเดือนตุลาคม 2553 หลังจากที่ได้ทำความรู้จักกันในเฟซบุ้ค คุณแป๊ะไปพร้อมกับสมาชิกรุ่นแรกของกลุ่มสองขาเพื่อประชาธิปไตย เช่น รต.ธนะสิทธิ์ พิพุฒ (คุณเล็ก) รอ.พิสิทธิ์ พิพุฒ (ผู้กองเต่า) น้องยุ่ง พี่เผชิญ ซึ่งล้วนเป็นเครือญาติกัน พวกเขาแต่งกายคล้ายๆกัน ใส่เสื้อยืดสีแดงและกางเกงทหารขายาวลายพราง พวกเราได้หารือกันเรื่องความคืบหน้าของการเตรียมโครงการร่วมกับเพื่อนจากแคมฟร้อกอีก 2-3 คน พวกเราเข้ากันได้รวดเร็วเนื่องจากมีอุดมการณ์ที่ตรงกันในการทำกิจกรรมเพื่อปลุกใจคนเสื้อแดงให้กลับมาต่อสู้กับเผด็จการอีกครั้ง

เนื่องจากโครงการนี้เป็นกิจกรรมที่ใหญ่ที่สุดที่คนเสื้อแดงเคยจัดมา การมองหาพาร์ทเนอร์เพิ่มเติมในการจัดกิจกรรมจึงเป็นเรื่องจำเป็น ผมนึกถึงคนที่เป็นสัญลักษณ์ของคนเสื้อแดงในขณะนั้นคือคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ผมและเพื่อนในแคมฟร้อกได้ไปพบคุณสมบัติที่สำนักงานกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ที่ถนนวิภาวดี ผมได้เชื้อเชิญคุณสมบัติและกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงเข้าร่วมเป็นผู้จัดกิจกรรม คุณสมบัติตอบตกลง นอกจากนี้ผมยังได้เชิญคุณสมบัติเป็นที่ปรึกษาโครงการด้วย (สำหรับผมการที่กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงตกลงที่จะเข้าร่วมเป็นผู้จัดกิจกรรมเป็นการการันตีความสำเร็จของโครงการไปแล้วครึ่งหนึ่ง และขอขอบคุณมาณ.โอกาสนี้)

กลุ่มสุดท้ายที่ผมเชิญเข้าเป็นผู้จัดกิจกรรมคือมูลนิธิวีรชนเพื่อประชาธิปไตย ผมมีโอกาสพบกับอ.ธิดา ถาวรเศรษฐที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเพื่อขอคำแนะนำในการจัดกิจกรรม และได้มีโอกาสพบกับคุณนิดซึ่งเป็นเลขาของคุณหมอเหวง และได้เชิญมูลนิธิฯเป็นผู้จัดกิจกรรมร่วม โดยทางมูลนิธิฯจะส่งตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรมในวันเสาร์และอาทิตย์ และจะนำผ้าห่มไปแจกให้กับชาวบ้านที่อีสานด้วย

คุณเดวิด เพอร์แชล คอนเนอร์เป็นอีกคนที่ผมเชิญเข้ามาร่วมกิจกรรมในฐานะที่ปรึกษาโครงการในต่างประเทศ เนื่องจากคุณคอนเนอร์เป็นชาวต่างชาติและเข้าใจคนเสื้อแดงจึงมีมุมมองที่กว้างและให้คำแนะนำที่สำคัญกับผมหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแนะนำให้ผมเริ่มกิจกรรมที่ราชประสงค์ เขาบอกว่าราชประสงค์คือบ้านของคนเสื้อแดง และเป็นสถานที่ซึ่งเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเราถูกสังหารมากที่สุด ไม่มีสถานที่ใดเหมาะกับการเริ่มกิจกรรมเท่าราชประสงค์อีกแล้ว ผมเห็นด้วยกับคำแนะนำที่มีค่านี้และได้นำคำแนะนำนี้มาปฏิบัติกับกิจกรรมเส้นทางสีแดงทุกครั้ง

งานแถลงข่าวเปิดตัวกิจกรรมมีขึ้นสองครั้งในเดือนตุลาคมปีนั้น การแถลงข่าวครั้งแรกได้รับเกียรติจากอ.ธิดา ฐาวรเศรษฐ (ขณะนั้นยังไม่เป็นประธานนปช.) มาร่วมให้กำลังใจและขึ้นเวทีแถลงข่าวให้ข้อคิดและคำแนะนำในการจัดกิจกรรมด้วย การแถลงข่าวครั้งที่ 2 มีขึ้นก่อนที่จะเดินทางเพียงวันเดียว คือวันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม 2553 การแถลงข่าววันนั้นได้รับความสนใจจาก Voice TV ไปทำข่าว มีผม รต.ธนะสิทธิ์ และรอ.พิสิทธิ์ พิพุฒ และสอ.ฉลาด สงเคราะห์สุขร่วมกันแถลงข่าว

สมควรบันทึกไว้ในที่นี้ว่ากิจกรรมเส้นทางสีแดง ราชประสงค์-หนองคาย เป็นกิจกรรมทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา จุดประสงค์ที่แท้จริงของกิจกรรมนี้คือการปลุกใจคนเสื้อแดงที่พ่ายแพ้จากการสลายการชุมนุม 19 พค.ให้มีกำลังใจกลับมาต่อสู้กับเผด็จการอีกครั้ง แต่เนื่องจากขณะนั้นรัฐบาลยังคงศอฉ. (ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจึงเป็นเรื่องผิดกฏหมายและเป็นสิ่งต้องห้าม

เพื่อให้กิจกรรมนี้ไม่ขัดต่อกฏหมาย กิจกรรมนี้จึงถูกออกแบบมาให้เป็นการเดินทางเพื่อไปเยี่ยมเยียนและให้กำลังคนเสื้อแดงในภาคอีสานโดยแรงกายของมนุษย์ (โดยการปั่นจักรยานทางไกล) เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนเสื้อแดงทั่วประเทศได้เห็นถึงความมุ่งมั่นของคนกลุ่มเล็กๆที่จะไปปลอบขวัญผู้สูญเสียในภาคอีสาน คำถามว่าทำไมต้องเป็นภาคอีสาน คำตอบก็คือเพราะการเดินทางไปอีสานเป็นการก้าวออกจากอำนาจการควบคุมของศอฉ.ที่ยังคงสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพ และที่สำคัญที่สุดคืออีสานเป็นภูมิภาคที่คนเสื้อแดงสูญเสียมากที่สุด คนที่ถูกสังหาร ถูกขังคุกส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน ... การไปให้กำลังใจชาวอีสานจึงเป็นก้าวแรกของการปลุกใจคนเสื้อแดงทั่วประเทศให้ลุกขึ้นมาสู้กับเผด็จการอีกครั้ง 

คลิปโครงการ Voice TV www.youtube.com/watch?v=pekrhVIvPM0
คลิปแถลงข่าว Voice TV www.youtube.com/watch?v=zqF6QqBkzhY














โปสเตอร์กิจกรรม เส้นทางสีแดง ราชประสงค์-หนองคาย 31 วัน 18 จังหวัด 1,700 กม.
โปสเตอร์กิจกรรม เส้นทางสีแดง ราชประสงค์-หนองคาย 31 วัน 18 จังหวัด 1,700 กม.


จากซ้าย รอ.พิสิทธิ์ พิพุฒ ผม และรต.ธนะสิทธิ์ พิพุฒ
จากซ้าย รอ.พิสิทธิ์ พิพุฒ ผม และรต.ธนะสิทธิ์ พิพุฒ


จากซ้าย รอ.พิสิทธิ์ พิพุฒ ผม และรต.ธนะสิทธิ์ พิพุฒ
จากซ้าย รอ.พิสิทธิ์ พิพุฒ ผม และรต.ธนะสิทธิ์ พิพุฒ


ขณะแถลงข่าว
ขณะแถลงข่าว


รต.ธนะสิทธิ์ พิพุฒ
รต.ธนะสิทธิ์ พิพุฒ


รต.ธนะสิทธิ์ พิพุฒ
รต.ธนะสิทธิ์ พิพุฒ


บรรยากาศการแถลงข่าว
บรรยากาศการแถลงข่าว


สอ.ฉลาด สงเคราะห์สุข
สอ.ฉลาด สงเคราะห์สุข


ให้สัมภาษณ์หลังแถลงข่าว
ให้สัมภาษณ์หลังแถลงข่าว

วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

บันทึกเส้นทางสีแดงเพื่อสันติภาพ (ตอน 6)


23 February 2012 at 00:06
6. จุดกำเนิดของโครงการเส้นทางสีแดง (Red Path Projects)

กรณีคุณคอนเนอร์ถูกทารุณระหว่างถูกขังในเรือนจำสร้างความสะเทือนใจให้กับคนเสื้อแดงจำนวนมากรวมทั้งผม คืนหนึ่งผมนอนถามตัวเองว่าผมกำลังทำอะไรอยู่ กำลังนอนกอดภรรยาและลูกๆอยู่ในห้องนอนอันแสนสบาย แต่ชาวต่างชาติที่มีความกล้าหาญที่จะพูดความจริงในสิ่งที่เขาเห็นทหารไทยสังหารประชาชนกลางเมืองกลับถูกขังอยู่ในคุก ถูกทรมาน ฯลฯ ความคิดนั้นทำให้ผมนอนไม่หลับและลุกขึ้นมาเปิดคอมพิวเตอร์เข้าไปพูดในแคมฟร้อก ผมบอกความตั้งใจว่าสักวันหนึ่งผมจะไปเยี่ยมพี่น้องร่วมอุดมการณ์ของผมที่อีสาน ผมจะไปเยี่ยมพวกเขาและให้กำลังใจพวกเขาให้กลับมาสู้กับเผด็จการอีกครั้ง ผมตั้งใจในขณะนั้นว่าผมจะเดินเท้าไปอีสานพร้อมกับเป้และเสื้อผ้าสองชุด ชวนเพื่อนๆที่มีความคิดแบบเดียวกับผมไปด้วยกัน แต่ขณะนั้นผมยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร

ประมาณเดือนต้นตุลาคม 2553 ผมได้รับการติดต่อจากเพื่อนสาวของคุณคอนเนอร์ว่าทางตัวแทนกาชาดสากลในเมืองไทยได้ติดต่อเขาไปเพื่อจะขอข้อมูลเกี่ยวกับคุณคอนเนอร์ เขาอยากจะให้ผมไปพบเจ้าหน้าที่ของกาชาดสากลเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของคุณคอนเนอร์ ผมตอบตกลง

ไม่กี่วันต่อมาผมไปพบกับตัวแทนกาชาดสากลพร้อมกับเพื่อนๆ 3-4 คนในแคมฟร้อกที่สุขุมวิทซอย 4 ผมและเพื่อนไปพร้อมกับคลิปที่ทหารสังหารประชาชนเมื่อ 10 เมย. ขณะนั้นหัวหน้าของสำนักงานกาชาดสากลเพิ่งย้ายมาใหม่ชื่อมิสเตอร์ บิยอร์น ราห์ม (Bjorn Rahm) เขาดูจะตกใจกับคลิปที่ผมเปิดให้เขาดูโดยเฉพาะคลิปที่คุณวสันต์ ภู่ทองถูกยิงที่สี่แยกคอกวัวจนสมองหลุดออกมาทั้งก้อน เขาบอกว่าไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นในกรุงเทพ ผมถามเขาว่ากาชาดสากลเคยไปเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำที่ถูกกักขังหรือไม่ เขาพยายามบอกกับผมว่าการทำงานของกาชาดสากลที่นี่มีข้อจำกัดมากมาย และการจะเยี่ยมผู้ต้องขังจะต้องได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลขณะนั้น (ในการคุยกันนอกรอบระหว่างผมและเจ้าหน้าที่บางคน ผมได้ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจว่ารัฐบาลพยายามที่จะบอกกับกาชาดสากลว่าผู้ต้องขังเสื้อแดงล้วนแล้วแต่ทำผิดกฏหมาย และไม่สมควรที่จะได้รับการใส่ใจมากนักจากกาชาดสากล)

ผมเข้าใจว่าข้อจำกัดในการที่ไม่ได้รับความสะดวกจากรัฐบาลทำให้กาชาดสากลไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ ผมถามเขาว่าพวกเขามีข้อมูล ชื่อ ที่อยู่ของผู้ที่เขาอยากจะไปเยี่ยมหรือไม่ ตัวแทนกาชาดสากลบอกกับผมว่าไม่มีพร้อมกับจ้องตาผม ความคิดของเขาจะเป็นอย่างไรผมไม่ทราบ ผมทราบแต่เพียงว่าผมได้บอกเขาไปว่าผมจะเดินทางไปเยี่ยมบุคคลเหล่านั้น และผมจะนำข้อมูลบุคคลเหล่านั้นกลับมาให้กาชาดสากลในอีกไม่นาน ก่อนจากกันผมเห็นกำลังใจที่เขามีให้ทางสายตา

คืนนั้นผมเข้าแคมฟร้อกและบอกความตั้งใจนี้ให้กับเพื่อนๆในแคมฟร้อกได้ทราบ มีคนสนับสนุนผมเป็นจำนวนมาก เพื่อนบางคนแนะนำให้ผมติดต่อคุณแป๊ะ คนบางสนาน (ศิลปินเสื้อแดงที่ได้รับความนิยมมาก) เขาบอกว่าคุณแป๊ะ คนบางสนานเคยทำกิจกรรมปั่นจักรยานแจกจานดาวเทียมให้กับชาวบ้านในชนบทเพื่อที่จะให้ชาวชนบทได้เข้าถึงข้อมูลคนเสื้อแดงผ่านสถานี People Channel มากขึ้น ผมแอดคุณแป๊ะเป็นเพื่อน และนั่นเป็นก้าวแรกของโครงการเส้นทางสีแดง

วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

บันทึกเส้นทางสีแดงเพื่อสันติภาพ (5)

22 February 2012 at 00:42
5. จุดเริ่มของการเป็นนักกิจกรรมเสื้อแดง

ชูป้ายและภาพของเสธแดง (กิจกรรมรำลึกเสธแดงครั้งที่ 1)


หลังเวทีแตก ผมเป็นเช่นเดียวกับคนเสื้อแดงทั่วประเทศที่หัวใจสลายจากสิ่งที่ได้เห็น ไม่เคยนึกว่าจะมีเหตุการณ์ที่คนไทยถูกเข่นเข่นฆากลางเมือง ก่อนที่เวทีราชประสงค์จะแตก สถานทูตสิบกว่าแห่งในรัศมี 5 กม.ของราชประสงค์ปิดหมดเสมือนหนึ่งว่านานาประเทศไม่รับรู้สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเมืองไทย ผมเริ่มจากการนำข้อมูลที่ผมสัมผัสด้วยตนเองและภาพการสังหารประชาชนที่ราชประสงค์ส่งให้กับเพื่อนๆทางอีเมล์ ไม่นานนักมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งในโลกไซเบอร์แนะนำผมให้เข้าไปในห้องแคมฟร้อกของคนเสื้อแดง

ผมได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารใหม่ๆที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ประวัติศาสตร์ประเภทที่ไม่สามารถหาได้จากห้องเรียนหรือจากสื่อทั่วไป ได้มีโอกาสพบกับเพื่อนๆที่ผ่านการชุมนุมทั้งที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์ หลังจากนั้นผมเริ่มจับไมค์พูด เนื่องจากเคยสอนหนังสือในระดับอุดมศึกษาอยู่หลายปีทำให้ผมถนัดกับการจับไมค์พูด ผมเริ่มพูดให้คนในแคมฟร้อกฟังในสิ่งที่พบผมเห็น ผมจับไมค์ครั้งละนานนับชั่วโมง บางคืนหลายชั่วโมง ส่วนใหญ่เป็นการระบายความโกธร ความเกลียดชังรัฐบาลเผด็จการและกองทัพ ความผิดหวังในผู้ปกครองตัวจริงของประเทศ มีผู้ติดตามผมในแคมฟร้อกเป็นจำนวนมาก

หลังจากนั้นประมาณเดือนกรกฏาคม 2553 คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ได้พาคนเสื้อแดงกลับไปผูกผ้าแดงที่ราชประสงค์อีกครั้ง มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไปเป็นกำลังใจให้กับคุณสมบัติรวมทั้งผม  นั่นเป็นการออกมาต่อสู้ครั้งแรกของผมในฐานะคนเสื้อแดง (เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการกลับมาของคนเสื้อแดงที่สำคัญที่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้คนเสื้อแดงได้ลุกมาสู้อีกครั้งจนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อกลางปี 2554) ผมเป็นหนึ่งในผู้ที่ติดตามคุณสมบัติออกมาทำกิจกรรมรุ่นแรกๆ ผมออกมาทำกิจกรรมกับคุณสมบัติบ่อยเท่าที่จะทำได้

ในเดือนสิงหาคมปีนั้นผมเริ่มจัดกิจกรรมเป็นครั้งแรกด้วยคำแนะนำของคุณสมบัติและเพื่อนๆจากกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กิจกรรมแรกที่ผมจัดคือกิจกรรมรำลึกเสธแดง (Remembrance of Sae Dang) ในวันที่ 29 สิงหาคม บริเวณลานอนุเสาวรีย์รัชกาลที่ 6 มีการชุมนุมของคนเสื้อแดง ชุป้ายประนามการกระทำของรัฐบาลและผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารเสธแดง มีการแสดงการจำลองเหตุการณ์เสธแดงถุกยิง และการตั้งขบวนของคนเสื้อแดงเพื่อเดินไปจุดเทียนแดง วางดอกไม้แดง และผูกผ้าแดงให้กับเสธแดงในจุดที่เสธแดงถูกลอบยิง กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมาก ผมได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นอีก 2 ครั้งคือในอาทิตย์ที่สองของเดือนกันยายน และตุลาคม 2553

ระหว่างเดือนกันยายน มีข่าวลือว่าคุณเดวิด เพอร์แชล คอนเนอร์ถูกซ้อมในคุกระห่างถูกกักขังในคดีฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน (คุณคอนเนอร์เป็นชาวออสเตรเลียที่อยู่เมืองไทยหลายปีและเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษอยู่ในกรุงเทพ คุณคอนเนอร์ได้รับเชิญให้ขึ้นเวทีที่ราชประสงค์ และได้พูดถึงเหตุการณ์การสังหารหมู่ หรือที่เรียกว่า massacre ในวันที่ 10 เมย.2553 ให้กับผู้ชุมนุมได้รับทราบ การขึ้นเวทีของคุณคอนเนอร์มีผลทางจิตวิทยามากเนื่องจากกองทัพออกข่าวว่าไม่ได้ใช้กระสุนจริงและไม่ได้สังหารประชาชน คุณคอนเนอร์ถูกจับกุมระหว่างที่ทหารเข้าสลายการชุมนุม)

ผมได้นัดคนเสื้อแดงให้ไปเยี่ยมคุณคอนเนอร์ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพประมาณปลายเดือนกันยายนโดยทำการนัดผ่านแคมฟร้อกที่ผมพูดทุกคืนพร้อมกับออกข่าวว่าจะไปยื่นหนังสือและหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีการทารุณและทุบตีคุณคอนเนอร์ในเรือนจำ ผมเจตนาที่จะพูดย้ำๆทุกคืนในแคมฟร้อกว่าจะไปยื่นหนังสือให้สถานทูตของประเทศออสเตรเลีย ตัวแทนกาชาดสากล ประธานสิทธิมนุษยชนในเมืองไทย ฯลฯ

เมือถึงวันเยี่ยม คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ได้ไปเยี่ยมพร้อมกับผมโดยนัดหมายที่เรือนจำ พวกเราถูกนำตัวไปนั่งรอในห้องเยี่ยมเกือบสองชั่วโมง ในท้ายที่สุดมีเจ้าหน้าที่ของเรือนจำมาบอกกับพวกเราว่าคุณคอนเนอร์ถูกนำตัวไปขึ้นศาล (ทั้งๆที่ไม่มีกำหนดนัดขึ้นศาลในวันนั้น) และได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว เมื่อพวกเราโทรเช็คไปที่สื่อมวลชนที่ทำข่าวอยู่ที่ศาลอาญารัชดาได้รับการยืนยันว่ามีการปล่อยตัวจริง พวกเราจึงเดินทางกลับด้วยความดีใจ ผมไม่รู้ว่าจะเป็นเพราะ "วิธี" ในการปล่อยข่าวว่าจะไปยื่นหนังสือให้องค์กรต่างๆหรือไม่ที่กดดันจนกระทั่งรัฐบาลปล่อยตัวคุณคอนเนอร์ แต่นั่นไม่สำคัญ เพราะภารกิจได้บรรลุเป้าหมายแล้ว

หมายเหตุ : คุณคอนเนอร์ได้เดินทางกลับประเทศออสเตรเลียในอีกสองสัปดาห์ต่อมาโดยการช่วยเหลือของแกนนำจากราชบุรีท่านหนึ่ง ในวันนั้นผมและเพื่อนๆในแคมฟร้อกอีกหลายคนได้เดินทางไปส่งที่สนามบินสุวรรณภูมิแต่คลาดกันไม่นาน คุณคอนเนอร์ได้เดินเข้าไปด้านในสนามบินเพื่อรอขึ้นเครื่องแล้ว ผมได้มีโอกาสพบกับเพื่อนสาวชาวไทยของคุณคอนเนอร์ ได้สนทนาทางโทรศัพท์ประมาณ 10 นาที ได้จดอีเมล์ของคุณคอนเนอร์ และได้ติดต่อกับคุณคอนเนอร์หลังจากที่เจ้าตัวเดินทางถึงซิดนี่ย์แล้ว และได้ติดต่อกันทางเฟซบุ้คจนถึงทุกวันนี้

วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

บันทึกเส้นทางสีแดงเพื่อสันติภาพ (ตอน 4)


21 February 2012 at 12:26
4. เวทีราชประสงค์แตก 19 พค.2553
 ภาพเพลิงไหม้เซ็นทรัลเวิลด์ในบ่ายวันที่ 19 พค.2553 ที่โด่งดังไปทั่วโลก
ภาพเพลิงไหม้เซ็นทรัลเวิลด์ในบ่ายวันที่ 19 พค.2553 ที่โด่งดังไปทั่วโลก


หลังเสธแดงถูกยิง การเดินทางเข้าร่วมชุมนุมเป็นไปอย่างลำบาก ทหารปิดทางเข้าออกทุกด้าน คุณจตุพรขึ้นเวทีปราศัยระดมคนเสื้อแดงให้เดินเท้าเข้าราชประสงค์เพื่อนำเสบียงไปให้ผู้ชุมนุม ค่ำวันที่ 14 หรือ 15 พค.ผมเข้าร่วมชุมนุมอีกครั้ง แต่คราวนี้เข้าไปได้ไกล้ที่สุดแค่ใต้ทางด่วนบ่อนไก่ (สาเหตุเพราะทหารตั้งแนวยิงบริเวณถนนพระราม 4 ระยะห่างระหว่างใต้ทางด่วนถึงแนวยิงของทหารประมาณ 100 เมตร) เย็นนั้นมีคนเสื้อแดงจำนวนมาขนเสบียงมาลงไว้ที่ใต้ทางด่วนจำนวนมาก ปัญหาคือจะนำเสบียงนั้นฝ่าแนวยิงของทหารเข้าไปให้ผู้ชุมนุมได้อย่างไร

ไฟฟ้าและประปาบริเวณนั้นถูกตัดหมด เวลา 19.30 น.มีชาวบ้านนำรถกระบะ 2 คันอาสามาขนเสบียง ผมร่วมกับคนเสื้อแดงขนเสบียงขึ้นรถ เมื่อเช็คดูแล้วปรากฏว่ามีเฉพาะเจ้าของรถเท่านั้นที่ไปโดยลำพัง ผมอาสานั่งรถไปเป็นเพื่อนคันหลัง พบว่าเป็นเจ้าของรถคันที่นำผมมาที่ศาลาแดงวันที่ 13 พค. เมื่อสอบถามเขาบอกว่าทั้งพ่อแม่พี่น้องเขาอยู่ที่เวที เขาต่อสู้ทั้งครอบครัว เขานำรถมาช่วยหลายวันแล้ว เขาบอกว่าจะนำเสบียงไปให้พี่น้องของเขาที่ราชประสงค์

สองทุ่มพวกเราดับไฟหน้าขับรถช้าๆสวนแนวยิงของทหารขึ้นไปถนนพระรามสี่ โดยขับชิดขวาแล้วเลี้ยวเข้าซอยร่วมฤดี มีชาวบ้านจับกลุ่มกันเป็นระยะตรวจรถเข้าออก พวกเราขับเข้าไปช้าๆ เมื่อชาวบ้านทราบว่าเป็นรถขนเสบียงก็ปล่อยให้ผ่านเข้าไปและกระซิบกระซาบบอกว่าเป็นพวกเดียวกัน บางคนขอน้ำแข็ง บางคนขอเสบียง ผมบอกให้แบ่งไปจากหลังรถได้เลย ช่วงที่ขับออกด้านหลังสวนลุมเป็นอีกช่วงที่หวาดเสียว เพราะในแสงจันทร์จะเห็นคนแต่งตัวคล้ายทหาร ใส่หมวกทหาร สะพายปืนห้อยลงต่ำ ยืนกระจายเป็นระยะ แต่พวกเราไม่ทราบเลยว่ากำลังของฝ่ายใด รถขนเสบียงค่อยๆวิ่งเข้าถนนราชดำริและทะลุออกด้านหลังเวทีนำเสบียงไปส่งให้เตนท์เสบียง พวกเราขนเสบียงเช่นนี้กันสามรอบ ตั้งแต่สองทุ่มจนถึงเที่ยงคืน เที่ยวสุดท้ายผมนำเสบียงไปส่งให้กับการ์ดที่ดูแลเสบียงที่เตนท์ซึ่งภายหลังเวทีแตกได้หลบหนีไปอาศัยอยู่กับชาวบ้านที่ราษีไศล  คืนนั้นเป็นอีกคืนที่ผมต้องค้างคืนที่หน้าเวที

ถัดจากนั้นอีกหนึ่งวัน ผมได้กลับไปร่วมชุมนุมอีกครั้ง และเหมือนกับวันก่อนที่แท็กซี่ไปส่งได้แค่ใต้ทางด่วนบ่อนไก่ ที่บ่อนไก่เริ่มมีผู้เสียชีวิตหลายราย เมื่อไปยืนร่วมกับผู้ชุมนุมตรงสี่แยกใต้ทางด่วน ผมเห็นกับตาที่คนเสื้อแดงถูกยิงมาจากฝั่งตรงข้าม ชาวบ้านตะโกนบอกกันว่ามีคนยิงมาจากบนตึกที่ห่างออกไป คนแถวนั้นบอกว่าเป็นตึกที่คนเสื้อเหลืองเช่าไว้ มีคนยิงลงมาจากตึกใส่คนเสื้อแดงตายไปหลายคนแล้ว รถพยาบาลวิ่งมารับคนเจ็บแล้วก็ไป บางทีรถพยาบาลมารับไม่ทันคนเสื้อแดงก็ช่วยกันอุ้มใส่รถมอเตอร์ไซด์แล้วนั่งประกบหน้าหลังวิ่งส่งโรงพยาบาล ขณะนั้นเริ่มมีการเผายางกันแล้ว มีใบปลิวที่แจกจ่ายให้กับผู้ชุมนุมเป็นข้อปฏิบัติตัว หนึ่งในนั้นคือคำแนะนำให้นำยางรถยนต์มาเผาเพื่อให้เกิดม่านควัน เจตนาเพื่อป้องกันมิให้พลซุ่มยิง (สไนเปอร์) มองเห็นเป้าหมายได้ถนัด ... สำหรับคนเสื้อแดง การเผายางจึงเป็นหนทางเดียวที่จะป้องกันไม่ให้ถูกซุ่มยิงเท่านั้น ไม่ได้เจตนาจะทำให้บ้านเมืองเสียหายอย่างที่เป็นข่าว

วันนั้นใต้ทางด่วนบ่อนไก่เป็นสมรภูมิที่ค่อนข้างดุเดือด คนเสื้อแดงเริ่มขนยางมาเผาเพื่อสร้างม่านควัน เสียงปืนหรือเสียงระเบิดได้ยินแว่วๆเป็นระยะ ชาวบ้านมามุงดูจำนวนมาก คนเสื้อแดงเริ่มพยายามตอบโต้ วันนั้นผมสะพายเป้ไปด้วย มีคนเสื้อแดงคนหนึ่งมาถามผมว่ามีเศษผ้าไหม ผมตอบว่ามีและถามเขาว่าจะเอาไปทำอะไร เขาบอกว่าจะไปทำระเบิดขวด ผมตอบไปทันทีว่าผมจะช่วย เขาพาผมไปนั่งใต้ทางด่วน เขารวบรวมขวดเครื่องดื่มชูกำลังได้หลายสิบขวด เขาใช้มีดพกเจาะปากขวดเป็นรู และขอให้ผมกรอกน้ำมันก๊าดลงขวดและช่วยตัดผ้าขนหนูเป็นชิ้นเล็กๆเพื่อทำเป็นชนวน ระหว่างที่นั่งทำระเบิดขวดมีชาวบ้านมามุงดู หลายคนเอาใจช่วย บางคนพยายามถ่ายรูป พวกเราต้องช่วยกันห้ามว่าอย่าถ่าย สักพักเขาก็รวบรวมระเบิดขวดใส่ย่ามแล้วก็หายตัวไปกับฝูงชน

วันถัดมาผมไปร่วมชุมนุมอีกครั้ง คราวนี้แท๊กซี่จอดให้ลงที่คลองเตย ที่คลองเตยมีการตั้งเวทีโดยครูประทีป อึ้งทรงธรรมฮาตะ ผมทำทุกอย่างที่สามารถช่วยได้ ทั้งช่วยยกเสบียงลง และช่วยเขียนป้ายผ้าให้ ข้อความทำนองตำรวจเป็นมิตรกับประชาชน ทหารจะไม่ทำร้ายประชาชน ฯลฯ (กางเกงตัวที่ใส่ไปยังเลอะสี ผมยังเก็บไว้เป็นที่ระลึกจนทุกวันนี้) เวทีที่ตั้งเสร็จมีการตั้งเครื่องเสียง ฉายโปรเจคเตอร์ และมีจุดบริการน้ำดื่ม

คืนวันสุดท้ายก่อนเวทีแตก ผมอยู่บริเวณคลองเตย-บ่อนไก่ เดินสังเกตุการณ์อยู่แถวนั้นจนดึกดื่น ควันไฟจากการเผายางมีให้เห็นโดยทั่วไป เสียงระเบิดเสียงปืนได้ยินมาเป็นระยะ สภาพท้องถนนมืดสนิท ดูแล้วยังจำภาพนั้นได้ติดตา ใครจะคิดว่าเมืองหลวงของประเทศไทยต้องกลายเป็นสมรภูมิเหมือนสงครามกลางเมือง ช่วงดึกได้ยินเสียงปืนนัดหนึ่งจากชุมชนเทพประทานซึ่งเป็นที่ทรัพย์สินฯ ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อเหลือง มีรถมอเตอร์ไซด์ขับหนีออกมา และมีคนเสื้อแดงตะโกนบอกต่อๆกันว่าให้จับๆๆ ชาวบ้านละแวกนั้นคงจะขัดแย้งกันเรื่องสีเสื้อมากจนแทบจะยกพวกเข้าทำร้ายกัน ดีที่มีการห้ามปรามกันไว้

เช้ามืดวันที่ 19 พค. ภรรยามาปลุกผมจากที่นอนแต่เช้ามืดบอกว่าทีวีออกข่าวทหารเข้าสลายการชุมนุมแล้ว ช่อง 3 ได้เผยแพร่การปฏิบัติการของทหาร มีภาพที่รถถังของทหารเข้ารื้อแนวป้องกันของคนเสื้อแดงตามด่านต่างๆ ผมติดตามข่าวจากหน้าจอทั้งวัน ประมาณเที่ยงวันจอ People Channel ก็ดับ พยามยามเปิดดูจากอินเทอร์เนทก็ไม่เป็นผล ต้องไปดูที่ร้านตัดผมซึ่งมีจานดาวเทียมรับสัญญาณ ได้ทันเห็นคุณจตุพร คุณณัฐวุฒิ คุณวิภูแถลง และแกนนำคนอื่นๆประกาศยุติการชุมนุมในเวลาประมาณเที่ยงเศษๆ

หลังจากเวทีใหญ่ประกาศยุติการชุมนุมก็เริ่มปฏิกริยาจากคนเสื้อแดงทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ในกรุงเทพเกิดเพลิงไหม้หลายแห่ง ในต่างจังหวัดเริ่มมีการเผาศาลากลาง ภาพเพลิงไหม้ในกรุงเทพโดยเฉพาะที่เซ็นทรัลเวิลด์ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก หลังเหตุการณ์สงบความจริงจึงปรากฏทั้งพยานและหลักฐานว่าคนเสื้อแดงไม่ได้เป็นคนเผาเซ็นทรัลเวิลด์ เช่นเดียวกับสถานที่ราชการหลายแห่งที่เป็นการจัดฉากขึ้นเพื่อป้ายความผิดให้กับคนเสื้อแดงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลเผด็จการและกองทัพในการสังหารคนไทยด้วยกัน
.