วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2555

บันทึกเส้นทางสีแดงเพื่อสันติภาพ ตอน 34 (จบบริบูรณ์)

20 October 2012 at 21:46

34. โพธิสัตว์ กัมปงชนัง พนมเปญ 
 ภาพประวัติศาสตร์ นักปั่นเส้นทางสีแดงที่เมืองพนมเปญ
9-11 กพ. 2555 เป็น 3 วันสุดท้ายในกัมพูชาพวกเราต้องปั่นจักรยานลำพัง ถนนหลวงในกัมพูชาเป็น 2 เลน รถที่นี่ขับชิดขวาทำให้ไม่ค่อยชินกับการจราจร และรถที่มีปริมาณไม่มากทำให้รถที่วิ่งสวนมาใช้ความเร็วสูง เมื่อไหร่ที่มีรถวิ่งสวนมาพวกเราต้องปั่นจักรยานลงข้างทางซึ่งเป็นดินแดง

อากาศในกัมพูชาร้อนกว่าเมืองไทยและแทบไม่ค่อยมีลมพัดทำให้เหงื่อออกตลอดทั้งวัน ที่กัมพูชาไม่มีปั้มน้ำมันที่อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวด้าน อาหาร เครื่องดื่ม และห้องน้ำ อาหารในกัมพูชาไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนที่เมืองไทย และน้ำดื่มต้องซื้อจากชาวบ้านข้างทางและมีราคาแพง น้ำแข็งในกัมพูชาเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยและหาไม่ง่าย ผนวกเข้ากับอากาศที่ร้อนอบอ้าวทำให้การปั่นจักรยานทางในกัมพูชา 3 วันที่เหลือเป็นสิ่งที่ตองใช้ความอดทนและความพยายามเป็นอย่างมาก

พวกเราต้องปรับวิธีการเดินทางด้วยการปั่นจักรยานชิดเลนขวา ใช้ความเร็วต่ำ ทุกชั่วโมงต้องปั่นจักรยาน 50 นาที พัก 10 นาที สิ่งที่เพลิดเพลินอย่างหนึ่งตลอดทั้งวันคือทุกๆ 5 นาทีจะมีเสียงของเด็กๆชาวกัมพูชาที่ตะโกนออกมาตลอด 2 ข้างทางว่า "Hello hello" พร้อมกับวิ่งออกมาโบกมือให้กับพวกเราหน้าบ้าน บางหลัง 2-3 คน บางหลังสิบกว่าคน หลายคนไม่นุ่งกางเกง เด็กบางคนเห็นเราหยุดรถและทำท่าทีเข้าไปทักทายก็จะวิ่งหนีเข้าไปในบ้าน สร้างรอยยิ้มให้กับทั้งนักปั่นและผู้พบเห็น ภาพของนักปั่นจักรยานเสือภูเขาที่ใส่เสื้อแดงเรียงแถวกันปั่นจักรยานไปพนมเปญคงจะเป็นภาพที่แปลกตาและสนุกสนานสำหรับเด็กๆ ภาพเหล่านี้มีให้เห็นตลอดระยะทางจนถึงพนมเปญ

อาหารบางมื้อเป็นอาหารของฝรั่งเศสที่ชาวกัมพูชานิยมทานกับ ชาวกัมพูชาเรียกว่า "หนมปังปาติ้" เป็นขนมปังแท่งยาวๆ ใส่แตงกวาดองและหมูยอ ชาวกัมพูชาทานส้มตำเป็นอาหารท้องถิ่น แต่ใส่เครื่องปรุงที่แตกต่างไปจากไทย ใส่กะปิลงไปตำด้วย รสชาดและกลิ่นที่ไม่ค้นเคยทำให้ไม่กล้าที่จะทดลอง

วัดของกัมพูชามีสถาปัตยกรรมคล้ายๆของไทย วัดบางแห่งมีสัตว์ในวรรณคดี เช่น พญาครุฑ อยู่หน้าวัด แต่ภาษาเขียนของกัมพูชาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตลอด 3 วันในการปั่นจักรยาน พวกเราไม่ค่อยเห็นแม่น้ำ ลำคลอง ที่ดินส่วนใหญ่รกร้างและไม่ได้รับการใช้ประโยชน์ในเชิงกสิกรรม เท่าที่มองด้วยสายตา กัมพูชายังขาดแคลนระบบสาธารณูปโภคเช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน ระบบชลประทาน ระบบระบายน้ำ ในการพัฒนาประเทศค่อนข้างมาก

แต่สิ่งที่น่าประทับใจคือท่าทีที่เป็นมิตรของชาวกัมพูชาต่อคนเสื้อแดง เด็กๆและเยาวชนที่นี่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษที่ดีจนน่าแปลกใจ เป็นที่น่าแปลกใจว่าเยาวชนกัมพูชาส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าเยาวชนของไทยโดยเฉลี่ย โรงเรียนสอนภาษาต่างชาติมีให้เห็นอยู่ทั่วไปในกัมพูชา เด็กๆนิยมไปโรงเรียนด้วยจักรยานหรือเดินเท้าจับกลุ่มเป็นหมู่

วันแรกระยะทางจากเมืองพระตะบองสู่โพธิสัตว์คือ 104 กม. วันที่สองระยะทางจากเมืองโพธิสัตว์สู่เมืองกัมปงชนังคือ 96 กม. บรรยากาศการปั่นคล้ายกับวันแรก เมื่อถึงเมืองกัมปงชนังเราได้พบหญิงชาวกัมพูชาที่เคยทำงานเป็นอาสาสมัคร NGO ในกรุงเทพ เธอพาพวกเราไปรับประทานอาหารค่ำที่ร้านอาหารง่ายๆแห่งหนึ่ง และได้เปรียบเทียบการใช้ชีวิตในกรุงเทพและในกัมพูชา ความเห็นของเธอทำให้พวกเราภูมิใจในการเป็นคนไทยอย่างยิ่ง

วันที่ 3 พวกเราปั่นเข้าพนมเปญ ระยะทาง 91 กม. วันสุดท้ายพวกเราต้องพักเหนื่อยบ่อยขึ้นเนื่องจากร่างกายที่อ่อนล้าและอากาศที่ร้อนอบอ้าว ตลอด 3 วันในกัมพูชาแทบไม่มีลม พวกเราเข้าตัวเมืองพนมเปญในเวลาเย็น แวะถ่ายรูปที่จตุรัสกลางเมืองพนมเปญเป็นที่ระลึก ด้านหลังของภาพถ่ายมีบ้านหลังที่ใหญ่โตที่สุด ตรงข้ามกับประตูชัย คือบ้านของสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา มีคนเสื้อแดงหลายคนที่มาให้กำลังใจถึงพนมเปญผ่านโปรแกรมทัวร์ที่มีเพื่อนเสื้อแดงจัดขึ้นเพื่อมาให้กำลังใจพวกเราและแกนนำสำคัญของคนเสื้อแดงที่อาศัยอยู่ในกัมพูชา ผมเข้าใจว่าพวกเราน่าจะเป็นคนไทยกลุ่มแรกที่เดินทางด้วยจักรยานเสือภูเขาเข้าสุ่กรุงพนมเปญ

กิจกรรมเส้นทางสีแดงเพื่อสันติภาพออกเดินทางจากราชประสงค์ตั้งแต่วันที่ 8 มค. ใช้เวลา 35 วันในการตระเวณเยี่ยมเยียนให้กำลังใจคนเสื้อแดงในภาคอีสาน เดินทางไปถึงกรุงเวียนจันทน์เมืองหลวงของประเทศลาว จากนั้นวกลงอีสานใต้ เข้ากัมพูชาทางช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ ผ่านเมืองเสียมเรียบ ศรีโสภณ พระตะบอง โพธิสัตว์ กัมปงชนัง และพนมเปญ รวมระยะทางไม่ต่ำกว่า 2,649 กม. ... นี่คือกิจกรรมเพื่อมนุษยธรรมแห่งประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของคนเสื้อแดงที่คนรุ่นหลังจะได้รับทราบผ่านบันทึกเส้นทางสีแดง !


ภาพประวัติศาสตร์ นักปั่นเส้นทางสีแดงที่เมืองพนมเปญ


กลางเมืองพระตะบอง รูปปั้นยักษ์ถวายตะบอง
กลางเมืองพระตะบอง รูปปั้นยักษ์ถวายตะบอง


ถ่ายกับเด็กเนักเรียนที่เมืองพระตะบอง
ถ่ายกับเด็กเนักเรียนที่เมืองพระตะบอง


ระยะทาง 60 กม.ถึงเมืองโพธิสัตว์
ระยะทาง 60 กม.ถึงเมืองโพธิสัตว์




รอ.ปรีชา เอกฉัตรและเด็กๆชาวกัมพูชา
รอ.ปรีชา เอกฉัตรและเด็กๆชาวกัมพูชา


ป้ายทางเข้าเมืองกัมปงชนัง
ป้ายทางเข้าเมืองกัมปงชนัง


ถ่ายกับหญิงชาวกัมพูชาขายน้ำอ้อยริมทาง
ถ่ายกับหญิงชาวกัมพูชาขายน้ำอ้อยริมทาง


ภาพจักรยานและเสื้อที่ตากลมเพราะเปียกเหงื่อ
ภาพจักรยานและเสื้อที่ตากลมเพราะเปียกเหงื่อ


ระยะทาง 100 กม.ถึงกรุงพนมเปญ
ระยะทาง 100 กม.ถึงกรุงพนมเปญ


รอ.ปรีชา เอกฉัตร นักปั่นวัย 70 ปีที่ปั่น 2,649 กม.จนถึงพนมเปญ !
รอ.ปรีชา เอกฉัตร นักปั่นวัย 70 ปีที่ปั่น 2,649 กม.จนถึงพนมเปญ !




พวงมาลัยดอกมะลิจากคนไทยที่ไปร่วมกิจกรรมที่พนมเปญ
พวงมาลัยดอกมะลิจากคนไทยที่ไปร่วมกิจกรรมที่พนมเปญ


ภาพถ่ายหมู่กับคนไทยที่ไปร่วมกิจกรรมต้อนรับขบวนปั่นจักรยานประวัติศาสตร์
ภาพถ่ายหมู่กับคนไทยที่ไปร่วมกิจกรรมต้อนรับขบวนปั่นจักรยานประวัติศาสตร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น